สำนักข่าวซินหัวนำเสนอบทวิเคราะห์การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า การเดินทางครั้งนี้บราวน์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐ และเพื่อโปรโมทประวัติการทำงานของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศก่อนที่จะอังกฤษจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G-20 ที่กรุงลอนดอน
บราวน์เริ่มเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อวันอังคารและจะเสร็จสิ้นภารกิจในวันนี้ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคแรงงานไม่มากนัก นอกจากนี้ บราวน์ยังเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเขาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสหรัฐไม่ราบรื่น เหมือนกับโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐ โดยเฉพาะในการเป็นพันธมิตรจัดตั้งกองกำลังผสมเข้าทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในอิรัก
ทั้งนี้ บราวน์พยายามย้ำถึง "ความสัมพันธ์พิเศษ" ตลอดการเดินทางเยือนสหัฐ ด้วยการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ว่า "ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ใดที่พิเศษมากไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสหรัฐ" ซึ่งการทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกมาขานรับทันทีว่า "ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสหรัฐและอังกฤษไม่เพียงแต่สำคัญกับผมเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อชาวอเมริกันทุกคนด้วย"
ในฐานะผู้นำชาติยุโรปคนแรกที่เดินทางเข้าพบโอบามาที่ทำเนียบขาว บราวน์จึงสามารถทำคะแนนนิยมในสายตาของคณะทำงานโอบามาได้เหนือผู้นำประเทศอื่นๆในยุโรป รวมถึงนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งความได้เปรียบเช่นนี้อาจทำให้ภาพลักษ์ของบราวน์ "โดดเด่น" ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การเงินผันผวน และอาจทำให้บราวน์ได้ก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับโอบามาในการโชว์ฝีมือแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโลกบนเวที G-20
สื่อมวลชนในสหรัฐและอังกฤษต่างจับตา "วาระ" การหารือระหว่างโอบามาและบราวน์ โดยมีการคาดการณ์ว่าหัวข้อการพูดคุยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเรื่องนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และคาดว่าบราวน์จะทำข้อตกลงใหม่ๆกับโอบามาก่อนที่จะถึงวันประชุม G-20 ที่ลอนดอน