ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ เตรียมลงนามในคำสั่งยกเลิกระเบียบข้อบังคับสมัยอดีตปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุชที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลกลางสนับสนุนการเงินสำหรับการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ โดยคาดว่าการลงนามเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญดังกล่าวจะมีขึ้นในเช้าวันนี้ตามเวลาสหรัฐ
ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ห้ามไม่ให้นำเงินของรัฐบาลไปใช้สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 หรือเมื่อเกือบแปดปีก่อน แต่ในการประชุมทางไกลร่วมกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมโลดี้ บาร์นส ที่ปรึกษานโยบายภายในประเทศของทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามาเตรียมยกเลิกกฎข้อบังคับดังกล่าว พร้อมชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีโอบามาที่ต้องการแสดงความชัดเจนว่าคณะทำงานของเขาต้องการให้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอิสระและเป็นเอกเทศจากการแทรกแซงทางการเมือง
การวิจัยสเต็มเซลล์ได้รับการขานรับจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ซึ่งกล่าวว่าการวิจัยสเต็มเซลล์จะนำไปสู่ความสำเร็จครั้งสำคัญทางการแพทย์ เนื่องจากสเต็มเซลล์มีคุณสมบัติในการแบ่งตัวได้ดี ทั้งยังสามารถแบ่งตัวเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้อย่างไม่จำกัด ทนต่อสภาพความเป็นพิษได้ดี มีชีวิตได้นานกว่าเซลล์ปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดการสะสมของความผิดปกติจากการกลายพันธุกรรมมากกว่าเซลล์ปกติทั่วไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน โรคพาร์กินสัน และอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง
ด้านกลุ่มศาสนากลับมีความคิดเห็นคัดค้าน เนื่องจากมองว่าการนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์มาใช้ศึกษาวิจัย เท่ากับเป็นการทำลายตัวอ่อนนั้นซึ่งนับเป็นชีวิตหนึ่งเช่นกัน
ขณะที่ นายเอริค แคนเตอร์ สมาชิกสภาคองเกรสระดับสูงจากพรรครีพับลิกันได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวของปธน.โอบามาเช่นกัน โดยชี้ว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ และอาจนำไปสู่การเก็บตัวอ่อนจำนวนมากไว้ใช้วิจัย แทนที่จะปล่อยให้ตัวอ่อนเหล่านั้นวิวัฒนาการเป็นมนุษย์
"ทำไมเราจึงเบี่ยงเบนความสนใจของเราออกจากเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอันดับ 1 ที่เราต้องทำให้สำเร็จ" วิปส.ส.จากพรรครีพับลิกันกล่าวกับซีเอ็นเอ็น ทั้งนี้ แคนเตอร์ ส.ส.รัฐเวอร์จิเนีย เป็นหนึ่งในแกนนำของพรรครีพับลิกันที่คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของโอบามา
อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นดังกล่าวของนายแคนเตอร์สวนทางกับที่ที่ปรึกษานโยบายในประเทศของทำเนียบขาวได้ชี้แจงว่า การสนับสนุนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของนายโอบามาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง
"การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นการช่วยให้เป้าหมายโดยรวมของเราเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเดินหน้าไปด้วย" บาร์นสกล่าว