ที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้ามีมติรับเป็นแกนนำในการปฏิรูปการเมือง โดยได้พิจารณากำหนดแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ให้นายสุดจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนไม่เกิน 50 คน ใช้เวลาศึกษาความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนหรือเสร็จสิ้นประมาณเดือน พ.ย.52
"สภาสถาบันฯ มีมติให้สถาบันพระปกเกล้ารับทำการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง...จะไม่ใช้คำว่าปฏิรูปการเมืองเพราะหากใช้คำดังกล่าวจะทำให้การศึกษาแคบเกินไปและที่ผ่านได้ปฏิรูปการเมืองมาหลายครั้งเกินไปแล้วจนหลายฝ่าย รู้สึกเบื่อหน่ายกับการปฏิรูป" นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
กรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะแยกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ศึกษาข้อเสนอแนะและรับฟังความเห็นจากผู้นำการเมือง ทั้งจากนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา สภาผู้แทนราฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้แทนกลุ่ม นปช. ผู้แทนศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ บุคคลเป็นที่ยอมรับของสังคม ผู้แทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และรับฟังความเห็นจากประชาชน 76 จังหวัด
จากนั้น 2.จะนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้นและนำข้อเสนอเบื้องต้นไปรับฟังความ เห็นจากกลุ่มต่างๆ และจากประชาชนทั้ง 76 จังหวัดอีกครั้ง และ 3.คณะกรรมการฯ นำข้อเสนอต่างๆ มาจัดทำข้อเสนอสุดท้าย สรุปปรับปรุงข้อเสนอสุดท้ายและจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า หากตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ คงเป็นเรื่องที่ไปบังคับกันไม่ได้ แต่ก็ต้องประสานไปก่อนถ้าไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมก็คงต้องเดินหน้าต่อไป
"สถาบันพระปกเกล้าประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เป็นธรรมดาที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้ดูด้วยว่าใครเป็นคนวิจารณ์และวิจารณ์เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่" นายบวรศักดิ์ กล่าว
ก่อนการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการสภาสถาบันฯ กล่าวว่า ได้วางกรอบเวลาเพื่อเสนอที่ประชุมไว้คือ 8-3-8 โดยให้มีคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมืองทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นใช้เวลาอีก 3 เดือนเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 8เดือน รวมเวลาทั้งสิ้น 19 เดือน