นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 7 คน ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
กรณีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงเข้าปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 โดยใช้อาวุธปืนยิงระเบิด แก๊สน้ำตา ขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย
"มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสั่งสลายการชุมนุม ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตรวม 7 คน" นายวิชา กล่าว
สำหรับผู้ที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางอาญา ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้ที่ได้รับแข้งข้อกล่าวหาความผิดทางวินัย ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร.
ส่วน พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนกรกฎ 48 , พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น. จะได้รับแจ้งข้อกล่าวหาความผิดทางอาญาและทางวินัย
นายวิชา กล่าวว่า สำหรับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.นั้น จากการไต่สวนจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าเป็นผู้ร่วมสั่งการหรือเกี่ยวข้องในการสั่งสลายการชุมนุม เนื่องจากได้ได้ผลัดเปลี่ยนเวรกับ พล.ต.ต.เอกรัตน์ แม้จะเป็นผู้ร่วมแถลงข่าวในวันที่ 8 ต.ค.51 ว่าเหตุที่ผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บไม่ใช่มาจากการใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
"คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าในชั้นนี้ยังไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ยืนยันชัดเจนต่อไปในภายหลังว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย" นายวิชา กล่าว