นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กรณีที่ได้ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ซึ่งได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค และทรู ส่งข้อความสั้น(SMS)ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการแนะนำตัวนายอภิสิทธิ์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในขณะนั้น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แม้จะได้รับการทักท้วงจากบริษัทผู้ให้บริการทั้ง 3 รายแล้วว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจขัดต่อกฎหมายของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เพราะถือว่าการส่งข้อความโดยที่ผู้รับไม่ได้ยินยอมอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่นายกรณ์ยังยืนยันที่จะให้ส่งข้อความดังกล่าว
ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกจากการส่ง SMS แนะนำตัวนายอภิสิทธิ์ จะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในประเด็นการรับของที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท โดยหากตีมูลค่า SMS จากการส่งกลับไปประมาณ 5 ล้านเลขหมายจะคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 5 ล้านบาท
นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว ยังเห็นว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง เนื่องจากใน SMS ระบุว่าถ้าต้องการได้รับการติดต่อกลับจากนายอภิสิทธิ์ ให้ส่งรหัสไปรษณีย์กลับมา ซึ่งคล้ายกับการสำรวจความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ว่ายังมีประชาชนผู้ให้การสนับสนุนอยู่ในเขตพื้นที่ใดบ้าง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า การส่ง SMS ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้มีการปรึกษากันในแง่ขอกฎหมายแล้ว และตนเองให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรนำไปปะปนกับกรณีการรับข้อมูลเป็นการส่วนตัว เพราะเป็นการทำความเข้าใจในการบริหารราชการแผ่นดินและขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการส่งข้อความตอบกลับมา และเป็นการส่งข้อความเพียงครั้งเดียวกับทุกคน โดยตนเองไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น ยอมรับว่าการส่ง SMS ครั้งนี้ อาจมีประชาชนบางส่วนไม่ชอบ และถูกหยิบมาเป็นประเด็นการเมืองและขยายผล
ทั้งนี้ หากมองว่าการส่ง SMS เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น เห็นว่าทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือและมักได้รับ SMS ส่งมาในลักษณะโฆษณาประชาสัมพันธ์งานต่างๆ แต่การการส่ง SMS ของตนเองไม่ใช่โฆษณาแต่เป็นการบริการสาธารณะ และขอกล่าวขอโทษ หากการส่ง SMS ครั้งนั้น ส่งไปถึงผู้ที่แจ้งเครือข่ายที่ไม่ประสงค์รับข้อความ ซึ่งยืนยันว่าตนเองเคารพสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ หากจะมีการละเมิดสิทธิ คงจะเป็นผู้ที่นำเบอร์โทรศัพท์ของตนเอง ไปประกาศต่อสาธารณะ
"เรามีการปรึกษาทางกฎหมาย แล้ว และแจ้งให้คุณกรณ์และผู้เกี่ยวข้องให้รู้ว่าต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนเรื่องสิทธิผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะผมก็เป็นผู้ผลักดันเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคจึงได้ระมัดระวังว่าจะเป็นปัญหา" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวชี้แจงว่า จากบรรยากาศการเมืองที่มีความแตกแยกและในวาระที่นายอภิสิทธิ์ เข้ารับตำแหน่ง และมีนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน 3 ด้าน คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคง และความแตกแยกในสังคม ดังนั้น มีแนวคิดว่าแก้ปัญหาแตกแยกทางสังคม หากดำเนินการผ่านสื่อสารให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างนายกฯกับประชาชน และสื่อที่แพร่หลาย และสื่อสารได้โดยตรงกับประชาชนมากที่สุด คือ ผ่านโทรศัพท์ ขณะที่การใช้สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ต้องใช้เงินงบประมาณ และใช้เวลาเตรียมการ ซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์
และการส่ง SMS เป็นการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่าย โดยได้ทำความเข้าใจว่าเพื่อการสื่อสารโดยตรงระหว่างนายกรัฐมนตรีและประชาชน ซึ่ง 3 บริษัทเห็นพ้องที่จะร่วมมือเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ไม่ว่าบริษัท ซึ่งอาจจะเท่าทุน หรือหากลูกค้าตอบกลับบริษัทจะมีรายได้เข้ามา ซึ่งอาจเป็นเงินไม่มาก แต่ไม่สามารถคำนวณได้ว่าต้นทุนการส่ง SMS ของผู้ให้บริการเครือข่ายมีเท่าไร
นายกรณ์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่บังคับให้ผู้ให้บริการเครือข่าย 6 แห่งร่วมโครงการ เพราะมีเพียง 3 แห่งที่สมัครใจขณะที่ บริษัทที่ 4 คือ บริษัท ฮัทชิสัน ซึ่งบริษัท กสท.โทรคมนาคม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีรองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน หากผมใช้ตำแหน่งหน้าที่บังคับผู้ประกอบการ บริษัทดังกล่าวคงเข้าร่วมโครงการด้วย
"บริษัทนี้ (ฮัทชิสัน) ที่ไม่เข้าร่วม ก็เป็นแสดงความชัดเจนว่าไม่มีการบีบบังคับ ดังนั้นเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่เป็นธรรมและปราศจากข้อมูลที่เป็นจริง...การยื่นถอดนถอนตนเรื่อง sms นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะวันนั้นผมยังไม่ได้เป็น รมต.เป็นเพียง ส.ส. ไม่ได้มีการแทรกแซง แต่หากผมทำหวังเพื่อเอาใจนายกฯ เพื่อหวังตำแหน่ง ขอยืนยันว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผมเป็นรมว.คลังเงาอยู่แล้ว เรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับการรับตำแหน่ง"นายกรณ์ กล่าว
รมว.คลัง ยังได้ชี้แจงด้วยว่า การส่ง SMS ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใด เพราะไม่ได้เป็นการกระทำในเชิงพาณิชย์ โดยข้อความที่รัฐบาลส่งไปให้ประชาชนมี 17 ล้านเลขหมาย ไม่ใช่ 30 ล้านเลขหมาย ตามที่ฝ่ายค้านยกมาอ้าง และมีประชาชนส่งข้อความกลับมา จำนวน 3.4 แสนเลขหมาย ดังนั้นขอชี้แจงรายได้จากการส่งข้อความกลับ 3 บาท/ข้อความ ไม่ได้มีมากถึง 90 ล้านบาท และภาคเอกชนไม่ได้มีส่วนได้เสียกับรัฐบาล แต่เป็นการมองในแง่ความคุ้มค่าต่อสังคม
"รู้สึกผิดหวังในความใจแคบของท่าน เกี่ยวกับนวัตกรรม และการประหยัดงบประมาณ ซึ่งทั่วถึงและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ...ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ที่มีคนหาย จะมีการส่ง SMS ขอความร่วมมือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือที่ฮาวาย ที่มีการส่งเตือนภัย " นายกรณ์ กล่าว
รมว.คลัง ยังชี้แจงต่อว่า ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษี โดยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายได้มีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกำหนด เมื่อ ม.ค.52 จากรายได้ที่ได้จากการรับ-ส่ง SMS ครั้งนี้ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลยังอยู่ระหว่างการยื่นแบบชำระภาษี
"กฎหมาย 4 ฉบับที่ฝ่ายค้ายยกมาอ้าง ทั้งกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตปี 42 ซึ่งจากวีดีทัศน์ ได้แสดงว่าเป็นข้อความขอความร่วมมือประชาชนร่วมแก้ปัญหาประเทศชาติ ไม่ได้เป็นข้อความส่วนตัว ส่วนการใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีแสวงหาประโยชน์มิชอบ ก็ชัดเจน ส่วนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น เป็นการส่งข้อความไปยังผู้ที่ยินยอมรับบริการ เพราะการรับโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านมือถือ 50 ล้านคนทั่วประเทศ เราได้รับทุกวัน ประชาชนชนที่ไม่ประสงค์มีส่วนร่วมก็ไม่จำเป็นต้องตอบกลับ ดังนั้นไม่น่ามีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ"รมว.คลัง กล่าว