นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ รมช.คลัง อภิปรายเป็นคนแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเป็นวันที่ 2 เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับเงินบริจาคของบริษัทเอกชนเข้าพรรคประชาธิปัตย์
นายประดิษฐ์ กล่าวงว่า ในปี 47-48 สมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มีส่วนร่วมในการบริหารเงินของพรรคใน 3 ส่วน คือ เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง(เงินอุดหนุนจาก กกต.) เงินบริจาคที่มีผู้สนับสนุนพรรค และเงินที่มาจากการจัดกิจกรรมการระดมทุน ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ช่วง เม.ย.46-ก.พ.48 ได้บริหารเงินของพรรค ปชป.ตามกฎระเบียบของ กกต.โดยถูกต้องทั้ง 3 ส่วนหลัก
ทางพรรคมีการจัดทำบัญชีและงบการเงินได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต มีการรายงานต่อ กกต.ที่ตรวจสอบความถูกต้องในงบดุลดังกล่าวและจัดทำเป็นหนังสือรายงานงบดุลประจำปีพรรคการเมืองเหมือนทุกพรรค ซึ่งตนเองในฐานะเลขาธิการพรรคและผู้บริหารพรรคปชป.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน
จนกระทั่ง ก.พ.48 หลังการเลือกตั้ง ได้ลาออกจากเลขาพรรคและได้ออกจากการเป็นสมาชิก ปชป.เมื่อ เม.ย.49 หลังการลาออกก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการของพรรค และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินของพรรค แต่เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบการบริหารการเงินของ ปชป.ช่วงตนเองอยู่ในตำแหน่งในพรรค ก็พร้อมชี้แจงข้อมูล
นายประดิษฐ์ ได้แสดงชาร์ทรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเมื่อปี 47-48 ที่มีการเซ็นชื่อของผู้สอบบัญชีอย่างถูกต้องและต่อมาได้จัดพิมพ์งบการเงินของพรรคการเมืองและมีการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินของพรรคว่า เมื่อปี 47 พรรคมีรายรับรวม 118 ล้านบาท มีเงินบริจาค 16 ล้านบาท
ส่วนปี 48 พรรคมีรายได้ 158 ล้านบาท มาจากรายรับ 3 ส่วน คือ เงินบริจาค 38 ล้านบาท กกต. 68 ล้านบาท และจากการจัดกิจกรรม 47 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายปีเดียวกัน 156.8 ล้านบาท เป็นรายจ่ายโครงการ กกต. 29 ล้านบาท รายจ่ายเลือกตั้ง 63.9 ล้านบาท และค่าบริหารสำนักงานใหญ่ 49 ล้านบาท
"รายจ่ายปี 48 เพื่อการเลือกตั้ง 63.9 ล้านบาท เป็นรายจ่ายจากการรณรงค์เลือกตั้ง อยู่ในงบการเงิน เป็นค่าใช้จ่ายทำแผ่นป้ายโฆษณาบิลบอร์ด 2 ล้านบาท โครงการจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.40.3 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์ 11 ล้านบาท จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ 7 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2.7 ล้านบาท ทุกรายการที่ชี้แจงได้ว่าจ้างและจ่ายเงินโดยถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ มีเอกสารหลักฐานครบ ซึ่งฝ่ายค้าน และประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ"นายประดิษฐ์ กล่าว
นายประดิษฐ์ กล่าวยืนยันว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค รายรับ-รายจ่ายของพรรคมีอยู่บัญชีเดียว ไม่มีการทำบัญชีอื่นๆอีก ซึ่งยืนยันได้ว่า ปชป.และตนเองไม่เคยรับเงินจำนวนบริจาค 261 ล้านบาทของบริษัทหนึ่ง ตามที่ถูกฝ่ายค้านอ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้งผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวหาก็ออกมาปฎิเสธแล้วว่าไม่ได้บริจาคเงินให้พรรค ซึ่งบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ทั้งการใช้จ่ายเงินและรายละเอียดต่างๆ
ส่วนกรณีของนายประจวบ สังขาว และ บริษัท เมซไซอะฯ ที่ว่าจ้างรับทำแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงนั้น ตนเองได้มีการดำเนินการตามขั้นตอน ให้มีการเสนองานกับคณะทำงานของพรรค หากมีการเสนองานที่แพงกว่ารายอื่น พรรคก็คงไม่ว่าจ้าง ซึ่งในที่สุดคณะทำงานประชาสัมพันธ์พรรค ได้ว่าจ้าง บริษัท เมซไซอะ ทำป้ายหาเสียง มูลค่า 23 ล้านบาท และมีหลายบริษัทที่เสนองานและทางพรรคว่าจ้างทำป้ายหาเสียงเช่นกันในการเลือกตั้งปี 48 เช่น ป๊อปปูล่าฯ 1.2 ล้านบาท บริษัท เกิดเมฆ 2 ล้านบาท หรือ บริษัทเม็กเน็ตฯ
"การจ้างบริษัทเมซไซอะทำป้าย Future Board เป็นป้ายหาเสียง และป้ายแนะนำนโยบายของพรรคเมื่อปี 48 มีใบเสร็จรับเงินชัดเจนแสดงให้เห็นว่าจ้างงานจริง ผมมีเช็คสั่งจ่ายแสดงใหเห็น 23 ล้านบาท ได้หักภาษีณ ที่จ่าย 3% จำนวน 6.7 แสนบาท ดังนั้น การอภิปรายว่าการจ่ายเงินให้บริษัทแล้วไม่ได้ทำงาน เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และข้อกล่าวหาที่ว่า เมื่อ ปชป.ให้เงิน 23 ล้านบาท แล้วเมซไซอะ นำเงินไปให้บุคคลอื่น ถือเป็นสิทธิของบริษัท...ขอยืนยันว่า ปชป.และผม ไม่ได้รับเงินดังกล่าวตามที่ถูกอภิปราย"
นายประดิษฐ์ ยังได้กล่าวถึงเครือญาติที่ถูกพาดพิงเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวด้วย โดยยอมรับว่า ครอบครัวตนเองเป็นครอบครัวใหญ่มีเครือญาติทั้งหมดกว่า 300 คน คงไม่สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดว่าใครทำอะไรบ้าง และเมื่อเข้ามาทำงานการเมืองก็ได้ยุติบทบาทการทำงานทางธุรกิจ เพราะเกรงจะถูกกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเงินบริจาค 261 ล้านบาทที่อยู่ในการสอบสวนของดีเอสไอนั้น เป็นกรณีที่บริษัทจดทะเบียนกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับตนเอง หรือ ปชป.และดีเอสไอ ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือตั้งข้อกล่าวหา ดังนั้น การตัดสินว่าใครถูกผิดที่สุดแล้ว กระบวนการยุติธรรมในระบบศาลจะเป็นผู้ตัดสิน หากบุคคลใกล้ชิดที่ถูกอภิปรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ให้ก็ถือเป็นวิบากกรรมที่ต้องรับ แต่หากไม่ผิดก็ควรได้รับความเป็นธรรม และต้องมาจากกระบวนการยุติธรรมในระบบศาล ไม่ใช่การพิพากษาของคนที่ไม่ได้มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน แล้วมาพิพากษาให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ พร้อมใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่มีอยู่ และพร้อมลาออกจากทุกตำแหน่งหากพบว่ากระทำผิดจริง โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตัดสินของศาล เพราะมั่นใจในการทำงานมาโดยตลอด ไม่ว่าการเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลไม่เคยมีพฤติกรรมทุจริต