ส.ส.4 พรรคฯ ร่วมยื่นร่างกม.ปรองดองแห่งชาติ ยกนิรโทษกรรมสร้างสามัคคี

ข่าวการเมือง Wednesday March 25, 2009 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ส.ส.149 คนจาก 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้ร่วมกันเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วในวันนี้

"วัตถุประสงค์ของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต้องการเห็นความสามัคคีภายในชาติ จึงเห็นว่าควรจะมีกฎหมายเรื่องความปรองดอง ซึ่งเป็นความเห็นพ้องร่วมกันของ ส.ส.ในหลายพรรค"นายพีรพันธุ์ กล่าว

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีการนิรโทษกรรมความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การกระทำที่เกี่ยวกับการปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในวันที่ 19 ก.ย.49 รวมทั้งการกระทำตามคำสั่งหรือประกาศของ คปค. 2.การกระทำในการชุมนุมหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในการต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการต่อต้านการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยวันที่ 19 ก.ย.49

3.การกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลผู้ถูกสอบสวน ไต่สวน ดำเนินคดดีจากบุคคลหรือองค์กรตามคำสั่ง คปค.ทั้งนี้ให้รวมถึงการกระทำที่บุคคลหรือคณะบุคคล ผู้ถูกสอบสวน ไต่สวน ดำเนินคดี หรือวินิจฉัย จากบุคคลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองด้วย

4.การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทหาร ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือประชาชนที่ได้กระทำในการควบคุมการชุมนุม การสลายการชุมนุม ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และ 5.การกระทำอื่นใด อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 49 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำในข้อ 1-4 หรือการกระทำเพื่อดำเนินการทางการเมืองตามรัฐธรมนูญปี 50

สำหรับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมให้รวมถึงผู้กระทำทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นการผิดกฎหมายให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิด ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายให้ผู้กระทำผิดพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มุ่งไปที่การกระทำที่เกิดขึ้นไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลว่าใครจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ