"สุเทพ"ปัดข่าวสั่งการถอดยศ"ทักษิณ", รัฐเล็งจัดการม็อบหากทำผิดกฎหมาย

ข่าวการเมือง Wednesday April 1, 2009 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่เคยสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ถือเป็นหน้าที่ของ สตช.ที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้เคยได้พูดคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่เป็นรัฐบาลใหม่ๆ กระแสข่าวที่ออกมาจึงเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น

"ขอเรียนว่าอย่าไปฟังข่าวลือ ผมยังไม่เคยเห็นเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ...ผมในฐานะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ไม่เคยมีคำสั่งให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ เชื่อว่า คณะรัฐมนตรีจะสามารถกลับเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้ หลังจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเปิดทางเข้าออก ซึ่งขณะนี้รอการติดประกาศหมายศาลเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมุนมปฎิบัติตามคำสั่งศาล

ส่วนข้อเสนอที่ให้รัฐบาลเปิดโต๊ะเจรจากับแกนนำกลุ่ม นปช. รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ และเรื่องนี้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเข้าใจดีรวมทั้งมีความรับผิดชอบและวิจารณญาณที่จะตัดสินใจใดๆ ส่วนการที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้รวบตัวแกนนำกลุ่ม นปช.นั้น รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการต้องยึดหลักของกฎหมาย และหากผู้ชุมนุมอยู่นอกเหนือกฎหมายก็ต้องดำเนินการ

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะขณะนี้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มส่งผลกระทบต่อสถาบันและความมั่นคงมากขึ้นจึงต้องพิจารณาในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสัญญาณดาวเทียมการโฟนอินและวีดีโอลิ้งค์ของอดีตนายกรัฐมนตรี

"วันนี้เราต้องตัดสินใจหลายเรื่อง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ใช้ช่องทางในการสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงและต่อสถาบัน ซึ่งเจตนาของเขา (พ.ต.ท.ทักษิณ) ต้องการปลุกระดม ที่กระทบต่อสถาบันและความมั่นคง" นายสาทิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งวอร์รูมประเมินสถานการณ์การชุมนุมตลอดเวลา และมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลายเกิดขึ้น

ขณะที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย มั่นใจว่า การประกาศชุมุนมใหญ่ของกลุ่ม นปช.ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จะมีผู้ร่วมชุมนุมไม่มากตามที่แกนนำประกาศ เพราะเชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ แต่หากพบการเพิกเฉยของผู้ว่าราชการจังหวัดใดก็จะมีการดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงต่อไป พร้อมยอมรับว่า ขณะนี้มีพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสานที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีการเกณฑ์ประชาชนเข้ามาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะใช้มาตรการรายงานสถานการณ์จากจังหวัดมาถึงส่วนกลางทุก 6 ชั่วโมง และยืนยันว่า กระทรวงไม่มีนโยบายที่จะสกัดกั้นคนไม่ให้เข้าร่วมชุมุนุม

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมุนมโดยเร็ว เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกรทะบต่อเศรษฐกิจ เสียบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปแล้ว 20% และสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ซึ่งประเมินก่อนการชุมนุม ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะลดลงเพียง 10% ดังนั้นไม่ต้องการให้การชุมนุมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

"สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ อยากให้นึกถึงอดีตที่เกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นและหลบเลี่ยงการเสียภาษีเมื่อต้นปี 49 จนนำมาซึ่งปัญหาถึงปัจจุบัน ...แกนนำประกาศให้คนว่างงานเข้ามาร่วมชุมุนม เห็นว่า ประชาชนที่ว่างงาน ควรใช้เวลาไปฝึกอาชีพในโครงการต้นกล้าอาชีพ มากกว่าเข้าร่วมชุมนุมโดยไร้ประโยชน์ ขณะนี้รัฐบาลพยายามเข้ามาช่วยเหลือดูแลคนว่างงาน" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ