ครม.พรุ่งนี้หารือยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-แนวทางกอบกู้ศก.จากเหตุป่วนเมือง

ข่าวการเมือง Thursday April 16, 2009 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) คาดการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันพรุ่งนี้(17 เม.ย.) จะมีการหารือถึงแนวทางการกอบกู้เศรษฐกิจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในช่วงที่ผ่านมา

"วันพรุ่งนี้คณะรัฐมนตรีคงจะได้มีการหยิบยก(แผนกอบกู้เศรษฐกิก) ประเมินผลจากการชุมนุม รวมถึงแผนการต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อไป" นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค ปชป.กล่าว

ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย คาดว่า ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาถึงการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ซึ่งจะต้องประเมินถึงสถานการณ์ความปลอดภัยล่าสุดด้วย

"น่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุย แต่ต้องพดูสถานการณ์วันนี้ก่อน" นายถาวร กล่าว

รมช.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ขอเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับมาต่อสู้คดี รวมถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช.ที่ยังหลบหนีคดีอยู่ ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังมีความคิดเห็นแตกแยกกันอยู่โดยผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนการรักษาความปลอดภัยให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั้น รมช.มหาดไทย กล่าวว่า จะเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงทีม รปภ.หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในพื้นที่ต่างๆ อีกประมาณ 7-8 จังหวัด ในภาคเหนือและอีสาน โดยใช้สถานีวิทยุชุมนุมปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้สั่งให้ดำเนินการแล้ว

"นายกรัฐมนตรีห่วงการที่ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจสถานการณ์ รับข้อมูลฝ่ายเดียว มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องไปว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรับข้อมูลทุกด้าน เพื่อให้ใช้วิจารณญาณตัดสินใจให้ถูกต้อง" นายถาวร กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาการชุมนุมของกลุ่ม นปช., มาตรการเยียวยาเพื่อจะนำข้อมูลใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับกรณีที่มีข้อเสนอให้ยุบสภานั้น นายถาวร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นหลังจากดำเนินการปฎิรูปการเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะหากยุบสภาในขณะที่ยังใช้กติกาเดิมปัญหาก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ