ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" โดยความร่วมมือของกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายและภาคเศรษฐกิจสังคมฝ่ายต่างๆ โดยไม่มีข้าราชการและนักวิชาการเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในสังคม และเสนอให้ยุติการเมืองแบบตอบโต้เหน็บแนมกันระหว่างพลพรรคฝ่ายต่างๆ เพราะไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์อะไรเลยในยามวิกฤติของบ้านเมืองที่กำลังต้องการแสวงหาความเข้าใจต่อกันภายในชาติ
"ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ด้วยความร่วมมือของกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายและภาคเศรษฐกิจสังคมฝ่ายต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงจากภาคราชการและนักวิชาการปัญญาชนอย่างเช่นที่ถือปฏิบัติกันมาในอดีต" นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุในแถลงการณ์เรื่อง "สถานการณ์วิกฤตการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย"
อีกทั้งเสนอให้รัฐบาลเปิดเวทีภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในหมู่ชุมชนท้องถิ่นชนบท ซึ่งกำลังตื่นตัวพัฒนาตนเองและปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นอันเป็นสมบัติของชาติ พร้อมด้วยภูมิปัญญาความสามารถและศักยภาพการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในยุคที่ประเทศชาติกำลังถูกรุกรานจากภายนอกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
"เป็นที่คาดหวังว่าระบอบรัฐสภาไทยจะสามารถค่อยๆ สลัดคราบของความอ่อนแอล้มเหลวและทุจริตคอรัปชั่นจากอดีต และเข้าสู่ภายใต้การกำกับควบคุมของภาคสังคมและประชาชนทุกส่วนทุกระดับ อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง" แถลงการณ์ ระบุ
ประธานกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ในฐานะคนไทยที่ติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกห่วงใย และพยายามคิดใคร่ครวญถึงทางออกเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤติ ขณะเดียวกันธำรงรักษาไว้ซึ่งพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยไทย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้อีก
"สถานการณ์ขัดแย้งตลอด 3 เดือนเศษของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือยึดครองผูกขาดอำนาจแต่ฝ่ายเดียว หรือเพื่อทำลายล้างซึ่งกันและกัน เสียงเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ล้วนเป็นหลุมพรางบ่อนทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นข้อที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ ที่ต้องไม่ผิดพลาดในบรรยากาศของเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวางในขณะนี้" แถลงการณ์ ระบุ
ประธานกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า จากประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่ภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่นที่ต้องมีบทบาทกระทำการโดยตรงในกระบวนการ ปฏิรูปและแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงร่วมรับฟังหรือเห็นชอบไม่เห็นชอบในสิ่งที่บรรดานักวิชาการจัดเตรียมมา เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในสภาวะพัฒนาการเมืองปัจจุบันอยู่ที่ส่งเสริมพัฒนาสิทธิอำนาจและขีดความสามารถในการปกครองของชุมชนท้องถิ่น
"นอกจากเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ยังเป็นการพัฒนาภาคประชาชนให้เป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและควบคุมผู้แทนของตนเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องอยู่ภายใต้แอกเพื่อการแสวงช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนในหมู่นักการเมืองอาชีพดังเช่นที่เป็นมาโดยตลอด และซึ่งเป็นสมมติฐานที่มาของความล้มเหลวของระบอบรัฐสภาไทย" แถลงการณ์ ระบุ