นักวิชาการมองสงบยากแม้ม็อบแดงสลายแนะทางออกยุบสภา-เร่งปฏิรูปการเมือง

ข่าวการเมือง Friday April 17, 2009 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการด้านการเมืองชี้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จะยังไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ถึงแม้จะสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ไปแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการทำงานของรัฐบาลต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลชุดนี้ยังคงอยู่ในวาระต่อไป เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

"คงจะไม่สงบ มีการรังควานรัฐบาลต่อไป รัฐบาลไปไหนก็จะโดนต่อต้านทุกที่" นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านการเมือง กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

นักวิชาการ กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรียังคงอ้างความชอบธรรมที่จะเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป โดยไม่ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามข้อเรียกร้อง ก็คงจะมีผู้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกันเรื่อยไป

"ถ้าไม่ยุบก็คงจะไม่เลิก...เขาอยากจะชุมนุมก็ชุมนุม เขาไม่ได้กลัว" นายสุขุม กล่าว

ส่วนการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น นายสุขุม เชื่อว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดความเกรงกลัวที่จะถูกดำเนินคดี ดังนั้นจึงจะมีการออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และคงเป็นไปอย่างชัดเจน ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของขบวนการใต้ดินตามที่มีข่าว

นักวิชาการ เชื่อว่า ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องตัดสินใจยุบสภาเพื่อยุติปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ถึงแม้จะไม่ทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไป แต่ก็คลายสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองออกไปได้สักระยะหนึ่ง และมีความชอบธรรมสำหรับรัฐบาลที่จะกลับเข้ามาหลังการเลือกตั้ง

"ก็เรื่องของรัฐบาล รัฐบาลจะบอกอะไรคนเชื่อก็เชื่อ คนไม่เชื่อเขาก็ไม่เชื่อ รัฐบาลบอกว่ายุบสภามันยังไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แล้วอยู่มันแก้ได้ไหมเนี่ย" นายสุขุม กล่าว

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) ในฐานะอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาภายใต้สถานการณ์ในขณะนี้ เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมืองสามารถยุติลงได้ อีกทั้งยังจะส่งผลเสียต่อการบริหารประเทศ เพราะการยุบสภาเท่ากับเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน

"แนวทางการยุบสภาไม่ใช่แนวทางที่รัฐบาลควรเลือกในปัจจุบัน ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ผลดีต่อประเทศ เราคงไม่ต้องการเห็นการเริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะทำให้ประเทศชาติขาดความต่อเนื่องในการทำงาน...ไม่ใช่ว่าไม่ยุบเพราะกลัวรัฐบาลจะแพ้ ผมไม่คิดอย่างนั้น ถึงยุบขณะนี้ก็ก้ำกึ่ง ฝ่ายค้านอาจเสียเปรียบด้วยซ้ำ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้ชื่นชม(คนเสื้อแดง)" นายสมชัย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลและพรรคร่วมให้คงอยู่ต่อไปนั้น รัฐบาลต้องใช้ยุทธวิธีให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองที่มีอยู่ 3 กลุ่มในขณะนี้ โดยกลุ่มนักวิชาการนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการปฏิรูปทางการเมืองและประโยชน์โดยรวมที่ประเทศชาติจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามกฎกติกาต่างๆ

ส่วนกลุ่มคนรากหญ้า รัฐบาลจำเป็นต้องเสนอนโยบายที่สร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ใจคนระดับรากหญ้า เช่น เงินกู้ เงินกองทุน สิทธิประโยชน์ต่างๆ และสุดท้ายกลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาลอาจต้องใช้วิธีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เข้ามาเป็นพวกกับรัฐบาล โดยยุทธวิธีทั้งหมดนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาฐานและความเข้มแข็งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไว้ด้วยกัน

"กลุ่มนักวิชาการ รัฐบาลก็ต้องใช้ยุทธวิธีความจริงใจในการปฏิรูปทางการเมือง กลุ่มรากหญ้า รัฐบาลก็ต้องเสนอสิทธิประโยชน์ทำให้รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐที่เป็นรูปธรรม เพื่อจะได้ลืมคุณทักษิณ ส่วนกลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้าน ก็ต้องดึงมาเป็นพวกเดียวกันด้วยการเสนอผลประโยชน์ต่างๆ วิธีการทั้งหมดนี้จะทำให้พลังของฝั่งคุณทักษิณ อ่อนแอลง" นายสมชัย ระบุ

นายสมชัย มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ถือว่ายังวางใจไม่ได้ เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงใช้ความพยายามในการต่อสู้เอาชนะ ในขณะที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ยังหาโอกาสในการทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำในการทำงาน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสื่อสารกับประชาชนส่วนใหญ่ให้เกิดความเข้าใจบทบาทในการทำหน้าที่บริหารประเทศ รวมถึงการทำการเมืองเชิงลึกเพื่อดึง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยให้มาเป็นแนวร่วมอยู่ในฝั่งรัฐบาลให้มากที่สุด

ส่วนการหาทางออกและเรียกคะแนนของพรรคเพื่อไทยกลับคืนมาภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน หลังจากที่เสียแนวร่วมจากประชาชนภายหลังก่อความวุ่นวายไปทั่วกรุงจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น นายสมชัย เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยคงเลือกใช้แนวทางทำสงครามข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดด้านบวกกับตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงให้เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะใช้ได้ผลกับกลุ่มคนรากหญ้า เพราะคนในชนบทอาจไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหัวคะแนนหรือ ส.ส.มาบอกอย่างไรก็เชื่อไปตามนั้น

พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกรวมทั้งหมด 6 จังหวัด ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงเลยไปเกินสิ้นเดือนเม.ย.นี้ เพราะจะยิ่งสร้างความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศให้มากขึ้น โดยเชื่อว่าแค่ภายในสิ้นเดือนนี้รัฐบาลก็น่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองได้พอสมควรแล้ว

"ถ้าให้สวยงาม ถึงสิ้นเดือนนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว(การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และน่าจะเป็นจังหวะหรือโอกาสที่รัฐบาลทำอะไรได้มากพอสมควร ถ้ามีฝีมือก็น่าจะทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคให้ราบคาบลงได้แล้ว แต่เกรงว่ารัฐบาลอาจจะอยากให้รู้สึกว่านิ่งจริงๆ ก็อาจจะขยายไปอีก 3 เดือน ตรงนี้ก็น่าเป็นห่วง"นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลน่าจะอยู่บริหารประเทศได้เกิน 1 ปีนับจากนี้ไป ซึ่งระหว่างนี้รัฐบาลจะต้องเร่งปฏิรูปการเมืองให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ระบบและการเมืองมีความนิ่งแล้ว ก็จะเป็นจุดเหมาะสมที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ