(เพิ่มเติม1) นายกฯยังไม่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในกทม.แต่จะใช้เวลาสั้นสุดเรียกความสงบคืน

ข่าวการเมือง Friday April 17, 2009 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจที่จะบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวม 6 จังหวัดต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะพยายามให้ใช้เวลาสั้นที่สุด โดยจะดูความจำเป็นในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้กลับคืนมาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะปรับปรุงในรายละเอียดเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นจึงยังไม่มีการยกเลิกในขณะนี้แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอย เพราะขณะนี้ยังมีพื้นที่อีก 2-3 จุด ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นพื้นที่ใดบ้าง

ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.รับทราบเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว และเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยึดหลักเกณฑ์การเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหมือนเช่นหลักเกณฑ์ที่ใช้กับการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ซึ่งได้กำชับให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีงบประมาณพร้อมที่จะดำเนินการ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแนวคิดในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมว่า ครม.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาแนวทางในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะไม่จำกัดสิทธิของผู้ชุมนุม แต่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รู้หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มต้นชุมนุม รวมถึงหากเกิดปัญหาขึ้นว่าจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนหลักเกณฑ์อย่างไร หากเห็นว่า การชุมนุมเริ่มจะออกนอกเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว

"จะได้มีหลักว่าจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ย้ำกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ให้ดำเนินคดีทุกคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด เพื่อไม่ให้สังคมมองว่ารัฐบาลปฏิบัติ 2 มาตฐาน ซึ่งการออกหมายจับหรือคัดค้านการประกันตัว เพราะมีเหตุที่เชื่อว่าบุคคลกลุ่มดังกล่าวอาจจะออกไปดำเนินการใด ๆที่กระทบต่อความทมั่นคงได้อีก

ส่วนการที่ตนเองและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามากำกับดูแลสถานการณ์ในช่วงปฏิบัติการสลายการชุมนุมเนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่โยนความรับผิดชอบให้กับผู้บัญชาการทหารบก โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่จะใช้ 2 มาตรฐาน

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ได้สั่งการแล้วให้เพิ่มการดูแลรักษความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะบริเวณโรงพยาบาล และขอร้องให้กลุ่มสนับสนุนและกลุ่มที่มีความเห็นไม่ตรงกับนายสนธิอยู่ในความสงบ เจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดให้ดีที่สุด

รวมทั้งหากบุคคลใดที่คิดว่าตนเองตกอยู่ในภาวะอันตรายก็ให้แจ้งมา เจ้าหน้าที่จะให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะไม่ต้องการเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นหรือนำไปสู่ต้นเหตุของความขัดแย้ง รัฐบาลพร้อมจะดูแลอย่างเต็มที่

ด้านนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้เห็นชอบในหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เม.ย.52 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยให้เบิกจ่ายงบประมาณจากงบกลางปีงบประมาณ 52 รายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินและจำเป็น

โดยการช่วยเหลือเร่งด่วนกรณีบาดเจ็บเล็กน้อยเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 20,000 บาท/ราย, กรณีบาดเจ็บเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล และนอนพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในไม่เกิน 20 วัน รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 60,000 บาท, กรณีบาดเจ็บสาหัสเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในเกิน 20 วัน รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท, กรณีทุพพลภาพไม่สามารถประกอบกิจการงานประจำได้ตามปกติ รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 200,000 บาท และกรณีเสียชีวิต ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติหน้าที่ รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท

ส่วนการช่วยเหลือต่อเนื่องกรณีทุพพลภาพและทายาทผู้เสียชีวิต โดยเป็นเงินฟื้นฟูสมรรถภาพจากการทุพพลภาพ ในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 200,000 บาท ส่วนเงินช่วยเหลือผู้พิการจ่ายเป็นรายเดือนจนถึงแก่ความตาย 1,000-3,000 บาท/ราย/เดือน ตามระดับความพิการ และกรณีบุตรผู้ได้รับความเสียหายที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ รัฐจ่ายเงินยังชีพรายเดือนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยระดับอนุบาล-ประถมศึกษา 1,000 บาท/เดือน, เด็กเล็ก กศน. มัธยมศึกษา 1,500 บาท/เดือน และอุดมศึกษา 2,500 บาท/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ