นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)เปิดเผยว่า จากการหารือกันระหว่างนายชัด ชิดชอบ ประธานรัฐสภากับประธานวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว ประธานรัฐสภาเห็นด้วยที่จะไม่กำหนดเงื่อนเวลาการทำงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมืองเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าคณะกรรมการฯ ควรไปกำหนดเวลากันเองเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการฯ เข้าใจว่าวันนี้ฝ่ายค้านจะเสนอชื่อคณะกรรมการฯ ที่จะตั้งขึ้นมาตรวจสอบเรื่องการสลายการชุมนุม ส่วนระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องการสลายการชุมนุมนั้นน่าจะใช้เวลา 45 วันเท่าเดิม ขณะที่รายชื่อในส่วนของ ส.ว.จะต้องรอที่ประชุมวุฒิสภาหารือในวันที่ 1 พ.ค.ก่อน และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างพร้อมประธานรัฐสภาคงสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดได้ทันที และมั่นใจว่าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนการที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เตือนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากทำเพื่อประโยชน์กับนักการเมืองจะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นอีกนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า นายบัญญัติไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยืนอยู่ตามระบอบประชาธิปไตยมา 63 ปี
โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ย้ำอย่างชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญปี 40 สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ไม่เคยมีปัญหา แต่รัฐบาลต่อมาและตัวบุคคลก็ทำให้เกิดวิกฤตที่สุดในโลก ดังนั้น ปัญหาทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวแต่ต้องอยู่ที่คนด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ส่วนข้อใดที่เป็นจุดอ่อนจุดแข็งที่จะมีการแก้ไขก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการแล้วก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 34 ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตลอดเวลา แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแนวทางนี้ประชาชนก็เห็นด้วยในการที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์และความปรองดองอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้ได้ทำความเข้าใจกับนายชวนและนายบัญญัติแล้วหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและตนได้พูดคุยกับบุคคลทั้ง 2 แล้ว ซึ่งทั้งสองท่านก็ชัดเจนว่ายินดีให้ดำเนินการ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเป้าหมายตรงกันโดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม