นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับนักการเมืองที่มิได้กระทำความผิด อีกทั้งยังเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองเป็นแม่บทสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากถูกสลายได้โดยง่ายและไม่เข้มเข็ง โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตย คงเป็นไปได้ยาก
นายดิเรก กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมนั้น เห็นว่าควรแยกประเด็นกัน เพราะหากนำเรื่องการนิรโทษกรรม รวมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก อีกทั้งจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องน่ากลัว แต่หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการนิรโทษกรรม ก็ควรไปออกกฎหมายต่างหาก ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 45 วัน
ทั้งนี้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งวานนี้ แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี เป็นประธาน ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ซึ่งเป็นตัวเต็งที่จะเป็นประธานก่อนหน้านี้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ด้านนายสมศักดิ์ บุญทอง กล่าวว่า รู้สึกหนักใจสำหรับการทำงานในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากการทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานระดับชาติ เชื่อว่าคงมีการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าเวลานี้ประเด็นปัญหาดังกล่าวมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้อย่างดีที่สุด เพราะเชื่อว่าประชาชนกำลังเฝ้ามองการทำหน้าที่ของตนเองอยู่ ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น เบื้องต้นคงต้องขอเข้าไปดูรายละเอียดคำสั่งแต่งตั้งของนายชัย ชิดชอบประธานรัฐสภา ก่อน แต่เบื้องต้นจะพยายามกำหนดกรอบการทำงานให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
ส่วนนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า การตั้งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น นายชัยไม่ได้มีการหารือกับตนเอง ซึ่งเข้าใจว่าคงใช้อำนาจประธานรัฐสภาแต่งตั้ง ซึ่งจะไม่คัดค้านว่าประธานจะเป็นใคร แต่คนทำหน้าที่ต้องรู้ว่าควรทำอะไร ต้องให้งานเดินหน้าไปได้เพื่อให้ปัญหาการเมืองยุติ