นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช นักวิชาการอิสระ กล่าวในการสัมมนา"จับชีพจรการเมือง"โดยประเมินว่าความขัดแย้งในสังคมเสื้อเหลือง-เสื้อแดงจะจบลงใน 2-3 เดือน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจจะส่งกระทบมากจนไม่มีใครทนได้ และหากความขัดแย้งไม่จบในเวลาดังกล่าว ก็จะทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซง โดยอาจมีการเลือกตั้งได้แต่อาจเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย เนื่องจากหัวหน้ารัฐบาลอาจจจะไม่ได้มาจากพรรคการเมือง และมีเทคโนแครตเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารประเทศ
ปรากฎการณ์เสื้อเหลือง-เสื้อแดงในทางรัฐศาสตร์ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยเอาจริงเอาจังทางการเมืองอย่างแท้จริงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนกับรูปแบบในต่างประเทศที่มีการแบ่งพรรคการเมืองสองฝ่ายที่ชัดเจน
“คนไทยปฏิเสธการเมืองและไม่อยากทำอะไรที่เป็นการเมือง มันน่ากลัว เหลือง-แดงเป็นการเมืองที่แท้จริง เป็นครั้งแรกที่เห็นคนไทยบอกว่าแตกต่างทางการเมืองกันอย่างแท้จริง"นายชัยอนันต์ กล่าว
ในอดีตเคยมีการชุมนุมเกิดขึ้นทุกรัฐบาลจากหลายฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ แต่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนในปัจจุบันที่มีแกนนำ และมีมิติไปถึงสถาบันสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างอันตราย ผู้นำชุมชนที่เกิดขึ้นจากฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทปลุกระดมทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของมวลชน เกิดภาพลบทางการเมืองค่อนข้างมาก
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)กล่าวว่า ความขัดแย้งของเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในขณะนี้ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ New Deal ต้องอยู่กันใหม่บนข้อตกลงใหม่
“สิ่งที่เราต้องการคือเปลี่ยนก้อนกรวดที่มาอยู่ด้วยกันแต่ไม่ม่ความเป็นส่วนรวม และเปลี่ยนความเกลียดชัง เราต้องการความเคลื่อนไหวใหม่"นายแก้วสรร กล่าว
สำหรับแนวคิดสมานฉันท์ และคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นยาเก่ากับโรคเรื้อรัง เพราะในอดีตเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งจนกระทั่งครั้งล่าสุดที่มีการปฏิวัติรัฐประหารที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จนกระทั่งเกิดข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ