ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 3 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการสมานฉันท์, คณะอนุกรรมการศึกษาเรื่องการปฏิรูปการเมือง และคณะอนุกรรมการศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการฯ วางกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดไว้ 2 สัปดาห์ และให้รายงานผลความคืบหน้าต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ทุกสัปดาห์
ด้านนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ เสนอทางออกความขัดแย้งทางการเมืองว่าจะต้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกัน และให้มีการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49
เนื่องจากถ้ามีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสานได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่ภาคใต้ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน และคืนความเป็นธรรมให้แก่นักการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก่อนหน้านี้
นายเสนาะ กล่าวว่า ภาพพจน์ของรัฐบาลในขณะนี้เปรียบเสมือนกับคณะปฏิวัติ เพราะมีทหารออกมาช่วยเหลือรัฐบาลและปราบปรามประชาชน ซึ่งภาพดังกล่าวดูไม่ค่อยดีนัก และที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการจะโทษใครหรือต้องการอะไร เพียงแต่อยากให้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง
ด้านนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองฯ กล่าวว่า สิ่งที่นายเสนาะ พูดนั้น จะทำให้ถูกมองได้ว่ามีการฮั้วกันของนักการเมือง อีกทั้งเห็นว่าเป็นการจับคู่ขัดแย้งที่ผิด เพราะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย แต่ความจริงแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรรี ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ
นายชำนิ เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้นำปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเข้ามาสู่ระบบรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง ดังนั้นการที่นายเสนาะ เสนอความเห็นในลักษณะดังกล่าวอาจถูกสังคมมองได้ว่ามีวาระแอบแฝง