อนุฯแก้รัฐธรรมนูญไม่กล้าลงมติแก้ ม.237 เล็งเสนอชุดใหญ่ชี้ขาด 19 พ.ค.

ข่าวการเมือง Thursday May 14, 2009 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือกันต่อในประเด็นการยุบพรรคเมือง โดยเห็นว่าในบางประเด็นควรต้องรอมชอมกันบ้าง และทำความเข้าใจระหว่างความเป็นคนไทยด้วยกัน เพราะเป้าหมายการทำงานคือการลดความขัดแย้งทางสังคม ให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้เห็นว่าในอดีตรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารจะถูกเรียกร้องให้แก้ไขทันที แต่รัฐธรรมนูญปี 50 มีคนพยายามปกป้องรักษาไว้อย่างสุดชีวิต ทำให้จุดของความสมานฉันท์มีปัญหา และในมาตรา 237 หากมีบทลงโทษแรงมากก็กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้ที่อยู่ในอำนาจ การบังคับใช้มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกได้

ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ อนุกรรมการฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ม.237 นั้นไม่ได้แก้เพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มาตรา 237 ที่ ส.ส.ร.50 ร่างขึ้นมานั้นไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ระบุให้ผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขในวรรคที่เป็นปัญหา คือ วรรค 2 ซึ่งที่ผ่านมามีคำวินิจฉัย คำพิพากษา ที่พิสูจน์แล้วว่าปัญหาอยู่ที่ตัวของรัฐธรรมนูญ เพราะเจตนารมย์เป็นอย่างหนึ่ง แต่ถูกนำไปใช้อีกอย่างหนึ่ง

ขณะที่นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ อนุกรรมการฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การซื้อเสียงของประเทศไทยมีมาอย่างเรื้อรัง และเป็นมะเร็งร้าย ซึ่งหากมีการทุจริตซื้อเสียงมากประเทศชาติก็ไปไม่รอด ดังนั้นหากต้องการให้การเมืองดีขึ้นและการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและยุติธรรมควรที่จะเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า และผู้ที่เป็นคณะกรรมการบริหารคนอื่นก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ฉะนั้นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธ์ควรที่จะคงไว้

นายวิรัช รัตนเศรษฐ อนุกรรมการฯ จากพรรครวมใจไทย กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีอำนาจออกระเบียบต่างๆ ในการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดเรื่องการส่งรูปผู้สมัคร หากส่งขนาดที่ผิดไปจากที่ระเบียบ กกต.กำหนด แต่หาก กกต. กินยาผิดหรือรับใบสั่งมา เพื่อให้ผู้สมัครคนนั้นทำความผิดร้ายแรง จะมีสวิชต์ตัดตอนหรือไม่ ดังนั้นหากมีการตัดมาตรา 237 ก็คงไม่มีประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นแตกต่างกันอีกว่า หากยกเลิกมาตรา 237 แล้ว จะมีการนิรโทษกรรมย้อนหลัง แต่บางคนก็มองว่าอะไรที่เป็นคุณสามารถย้อนหลังได้ ดังนั้นใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะไม่เป็นการนิรโทษกรรมย้อนหลัง ถ้านิรโทษกรรมอัตโนมัติแล้วจะเกิดผลใดๆ ต่อสังคม ดังนั้นเห็นว่า จะเป็นการกระทำที่ล่อแหลม หากยกเลิกมาตรา 237

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ใช้เวลาหารือนานกว่า 4 ชั่วโมง ในที่สุดประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปว่าจะนำความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา 237 โดยตัดวรรค 2 ทิ้ง แต่ให้ลงโทษกับผู้ที่ทำความผิด ขณะที่เสียงส่วนน้อยเสนอให้คงเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 50

สำหรับการประชุมในวันที่ 20 พ.ค.52 คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณามาตรา 190 หลังจากนั้นหากพิจาณาเสร็จก็จะพิจารณามาตรา 265 และมาตรา 266 รวมถึงที่มาของ ส.ว.ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่าคณะอนุกรรมการหลายคนได้ท้วงติงคณะอนุกรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่สรุปความเห็นของพรรคส่งมาให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ

ทั้งนี้ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเองคาดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้กล่าวต่อรัฐสภาเอง แต่พบว่าผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าพรรคยังไม่มีความชัดเจนนั้น จึงเป็นเรื่องน่าผิดหวัง

"วันนี้อย่าไปมัวอ้ำอึ้งกัน รวมถึงกรณีที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นยิ่งทำให้ตนเองสงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์มีใครเป็นหัวหน้าพรรรค" นายไพจิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ