In Focusออง ซาน ซูจี กับอิสรภาพที่ “ใกล้" เกินเอื้อม?

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 19, 2009 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังเที่ยงคืนของวันที่ 25 พฤษภาคมปีที่แล้ว สิทธิทางกฎหมายในการกักตัวสตรีร่างผอมบางนาม ออง ซาน ซูจี กำลังจะหมดลง ทั่วโลกต่างหวังว่าอิสรภาพของนางจะนำพม่าไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบเสียที แต่ความหวังก็พังทลายลง เมื่อรัฐบาลทหารพม่าโดยการนำของพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประกาศขยายเวลากักขังนางออกไปอีกปี เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศขยายระยะเวลาในการกักบริเวณนางมาโดยตลอด

ในครั้งนั้น รัฐบาลทหารพม่ารู้ดีว่าจะคุมขังผู้ใดโดยไม่ตั้งข้อหาหรือไม่มีการพิจารณาคดีได้สูงสุด 5 ปี และในระหว่างนั้นจะต่ออายุได้เพียงครั้งละ 1 ปี ซึ่งนางซูจีถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 และมีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2550 นั่นหมายความว่านางซูจีถูกคุมขังครบตามกำหนดแล้ว ถึงกระนั้น รัฐบาลก็ยังประกาศขยายเวลาการกักขังนางซูจีออกไปอีก ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวพม่าและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั่วโลก ไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐบาลทหารพม่าจะกระทำการอย่างอุกอาจโดยไม่สนใจสายตาประชาคมโลกได้อย่างไร้ยางอายเช่นนี้ แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ นั่นอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่หญิงเหล็กคนนี้จะถูกปล้นเสรีภาพ เนื่องจากต่อจากนี้ไป เธออาจถูกยืดเวลากักขังออกไป...

“อีกครั้ง"

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จอห์น วิลเลียม เยตทอว์ ชายชาวอเมริกันวัย 53 ปี ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและลักลอบเข้าไปยังบ้านพักของนางซูจีในกรุงย่างกุ้ง เขาพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 วันและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมขณะว่ายน้ำกลับออกมา ส่งผลให้นางซูจีถูกตั้งข้อหาละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณ และหากถูกตัดสินว่าผิดจริง นางจะถูกจำคุกอย่างน้อยที่สุด 3 ปี และนานสูงสุด 5 ปี นอกจากนั้นยังอาจต้องไปรับโทษในเรือนจำอินเส่งแทนที่จะถูกกักบริเวณในบ้านพักเหมือนเคย

เหตุการณ์ไม่คาดฝันครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่คำสั่งกักบริเวณของเธอจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้!

ทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะชะงักงันและตกตะลึงอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายเชื่อในทันทีว่านี่เป็นความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าที่จะหาข้ออ้างในการกักตัวนางซูจีต่อ ด้วยไม่ต้องการให้นางมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลจะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งเธอเป็น “หอกข้างแคร่" ของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีสิทธิกีดกันนางจากการลงสมัครรับเลือกตั้งได้ถึง 20 ปีด้วย

นานาประเทศไม่รอช้าที่จะออกมาเรียกร้องอิสรภาพให้นาง โดยนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ออกโรงแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลพม่าพยายามใช้เหตุการณ์นี้มาเป็นข้ออ้างในการกักตัวนางซูจีต่อไป พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ก็ตอบรับด้วยการสั่งขยายมาตรการคว่ำบาตรพม่าอย่างเป็นทางการเพื่อกดดันพม่าให้ปล่อยตัววีรสตรีท่านนี้

ในขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกแถลงการณ์ด่วนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีโดยไม่มีเงื่อนไข และกล่าวว่าการกักตัวนางซูจีถือเป็นการละเมิดขนบสากลอย่างเห็นได้ชัด ด้านนายบัน กี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็แสดงความวิตกกังวลและเรียกร้องให้รัฐบาลรัฐบาลทหารพม่ายุติการกระทำการใดๆ ที่อาจบ่อนทำลายกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองในพม่า

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็ประณามการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าที่ตั้งข้อหาใหม่ให้แก่นางซูจี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนางอย่างไม่มีเงื่อนทันที ในขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็แสดงความหวังว่าจะมีการปล่อยตัวนางซูจีและนักโทษการเมืองทั้งหมด

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องอิสรภาพที่กึกก้องไปทั่วโลก ดูเหมือนว่าความพยายามของนานาประเทศจะไร้ผลอย่างเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อวานนี้ นางซูจีถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษในเรือนจำอินเส่งใกล้นครย่างกุ้ง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยรัฐบาลได้วางกำลังหลายร้อยนายล้อมรอบบริเวณเรือนจำและปิดถนนทุกสาย รวมทั้งนำรั้วลวดหนามมากั้น โดยมีสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กว่า 100 คน มารวมตัวกันที่ด้านนอกเรือนจำเพื่อแสดงพลังสนับสนุนนาง

หัวหน้าทีมทนายของนางซูจีกล่าวว่า การพิจารณคดีอาจต้องใช้เวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เนื่องจากอัยการได้เรียกสอบพยานมากกว่า 22 ปาก และแม้จะมีการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่านางซูจีน่าจะพ้นผิดในคดีนี้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าชายชาวอเมริกันได้บุกรุกเข้าไปในบ้านเองโดยที่นางไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และนางได้ขอให้เขากลับออกไปแล้ว แต่เพราะเขามีท่าทีเหนื่อยล้าจากการว่ายน้ำและเป็นตะคริวนางจึงยอมให้เขาพัก นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ของทางการพม่าที่เฝ้าบ้านของนางอาจเป็นผู้ที่ยอมให้ชายชาวอเมริกันผู้นี้เข้าไปในบ้าน เนื่องจากบ้านของนางเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดที่สุดในนครย่างกุ้ง จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะหลุดเข้าไปในบ้านได้ ทนายความยังเปิดเผยด้วยว่า ชายคนนี้เคยลักลอบเข้าไปในบ้านของนางครั้งหนึ่งเมื่อปีแล้ว ซึ่งหญิงรับใช้ 2 คนที่พักอยู่กับนางในเวลานั้นได้ขอให้เขากลับออกไป จากนั้นแพทย์ประจำตัวของนางได้แจ้งให้ทางการทราบเรื่อง

แม้ทั่วโลกจะเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของนาง และล่าสุดประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนก็ออกมาตอกย้ำด้วยการออกแถลงการณ์จี้ให้พม่าปล่อยตัวนางซูจีและนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยเร็วที่สุด แต่หลายคนก็ยังอดหวั่นใจไม่ได้ว่าความพยายามของนานาชาติอาจไร้ผลอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมานางก็ถูกกักตัวอย่างไร้เหตุผลและไร้การตั้งข้อกล่าวหามาโดยตลอด และครั้งล่าสุดทางการพม่ายังกล้าต่อเวลากักบริเวณนางทั้งที่ขัดต่อกฎหมายด้วย ดังนั้นไม่มีใครรับประกันได้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นการจัดฉาก และความจริงอาจไม่มีวันเปิดเผย สิ่งเดียวที่ประชาคมโลกทำได้คือต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าทั่วโลกคงภาวนาให้ “ดอกไม้เหล็ก" คนนี้ได้รับความยุติธรรมและหลุดพ้นจากการกักขังเสียที

สรุปเส้นทางการต่อสู้ของ ออง ซาน ซูจี

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 พม่ากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความวุ่นวายทางการเมือง ประชาชนไม่พอใจการปกครองระบอบเนวินและรวมตัวกันประท้วงกดดันจนนายพลเนวินต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่ยึดอำนาจปกครองพม่ามานานถึง 26 ปี

8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 หรือราว 2 สัปดาห์หลังการลาออกของนายพลเนวิน ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในย่างกุ้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องสังเวยชีวิตไปหลายพันคน

15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี วัย 43 ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากนั้น 11 วันก็ได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน

24 กันยายน พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลเผด็จการสั่งกักบริเวณนางซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกด้วยระยะเวลา 3 ปีโดยไม่มีข้อหา และจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขัง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 พรรคเอ็นแอลดีของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้ และยื่นข้อเสนอให้นางซูจียุติบทบาททางการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตกับสามีและบุตร แต่นางปฏิเสธ รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอเป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา

14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 นางซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรกแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นยังถูกลอบทำร้ายบ่อยครั้งแม้จะมีกำลังตำรวจคอยคุ้มกันก็ตาม แต่นางก็ต่อสู้ด้วยสันติวิธีตลอดมา โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป ออกสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

21 กันยายน พ.ศ.2543 นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 โดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดเช่นเคย และได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุนนางซูจี นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 3 โดยรัฐบาลพม่าอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของนางซูจีเอง หลังจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ขยายระยะเวลาในการกักขังนางซูจีมาโดยตลอด

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ครบกำหนดการคุมขังนางซูจีตามกฎหมายความมั่นคงของพม่า แต่รัฐบาลพม่ายังประกาศขยายเวลากักขังนางต่อไปอีกปี

รวมแล้วนางถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านนานถึง 13 ปี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ