นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาการทั้ง 3 คณะได้รายงานความคืบหน้ามายังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แล้วแต่ยังไม่สรุปผล เนื่องจากยังเหลือเวลาการทำงานอีก 1 สัปดาห์
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ทำหนังสือถึงภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาครัฐ พรรคการเมือง รวมถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายวีระ มุสิกพงษ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้ร่วมเสนอความเห็นและแนวทางการสร้างความสมานฉันท์เข้ามาด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสมานฉันท์มีกรอบเวลา 45 วัน ที่จะเสนอความเห็นโดยจะกำหนดยื่นแนวทางสมานฉันท์ต่อประธานรัฐสภาวันที่ 19 มิ.ย.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นให้แก้ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงประเด็นการยุบพรรคการมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ตลอดจนมาตรา 190 ที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบข้อตกลงใดๆ ที่รัฐบาลจะลงนามกับต่างประเทศก่อน
พร้อมยืนยันว่า คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มุ่งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการ เพราะหลักคือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และแก้ไขในประเด็นที่นักการเมืองคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม