ICG ชี้เป้าหมายการยิงขีปนาวุธของโสมแดงอยู่ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 18, 2009 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ (ICG) ระบุในรายงานที่มีการเผยแพร่ในวันนี้ว่า เกาหลีเหนืออาจพัฒนาขีปนาวุธจากพื้นดินสู่พื้นดิน หรือ สกั๊ด และขีปนาวุธพิสัยใกล้อื่นๆอีกมากกว่า 600 ลูก ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่เกาหลีใต้ และขีปนาวุธโรดองพิสัยกลาง 320 ลูก ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ญี่ปุ่น

บลูมเบิร์กรายงานว่า ICG ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ระบุด้วยว่า เกาหลีเหนือ ซึ่งได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มีอาวุธนิวเคลียร์ อยู่ระหว่าง 6 - 12 ลูก

"แสนยานุภาพทางทหารที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลเกาหลีเหนือกำลังเป็นปัญหาหนักข้อขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกันว่าเทคโนโลยีผลิตอาวุธของเกาหลีเหนือได้ก้าวหน้าไปมากถึงขั้นไหน และอาวุธเหล่านี้ อาทิ หัวรบ ใช้การได้แล้วในปัจจุบัน หรือถึงแม้ว่าจะยังใช้การไม่ได้ในตอนนี้ แต่การทดลองแต่ละครั้งก็จะทำให้อาวุธเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกขณะ"

นอกจากนี้ ICG ยังได้ระบุในรายงานอีกฉบับที่เผยแพร่ในวันนี้เช่นกันว่า เกาหลีเหนือมีอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพอยู่ในคลังสำรองประมาณ 2,500 - 5,000 ตัน รายงานนี้ถือเป็นการยืนยันรายงานสมุดปกขาวด้านกลาโหมของเกาหลีใต้เมื่อเดือน 2544 ซึ่งประมาณการคลังอาวุธเคมีของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงเชื้อแอนแทรกซ์ ที่ระดับเดียวกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือประกาศว่า จะเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป โดยสื่อของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก๋ได้รายงานวานนี้ว่า เกาหลีเหนืออาจกำลังเตรียมการที่จะทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยไกล แทโปดอง 2 เพิ่มอีก 1 หรือ 2 ลูก โดยลูกหนึ่งยิงจากฐานมูซูดัน-ริ ทางตะวันออก และอีกลูกยิงจากฐานตงชาง-ริ ทางตะวันตก

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้การนำของนายคิม จอง อิล ได้ประกาศความสำเร็จในการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะดำเนินการทดลองนิวเคลียร์ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้ออกมาประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้เกาหลีเหนือใช้เป็นข้ออ้างในการหันหลังให้การเจรจา 6 ฝ่าย และขับไล่ผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์สากลออกนอกประเทศ

ในทางทฤษฎีนั้น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงทำสงครามกันอยู่นับตั้งแต่ที่ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศในช่วงปี 1950-1953 ได้ยุติลงโดยไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ