น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า กลุ่มจะให้เป็นเอกสิทธิของ ส.ว.แต่ละคนที่จะโหวตให้ พ.ร.ก และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการพิจารณาหรือไม่ โดยไม่ถือว่าจะต้องเป็นมติของกลุ่ม 40 ส.ว.
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่ามี ส.ว.มากกว่า 10 คนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.สามารถไปแก้ไขในชั้นของกรรมาธิการวุฒิสภาได้เหมือนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 53
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ยืนยันที่จะคัดค้านใน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมาตรา 4 ที่ระบุว่าเงินที่ได้ไม่ต้องนำส่งเข้าคลัง เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกทั้งเกรงว่าในจุดนี้อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินขึ้นได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทนั้น สามารถรับหลักการในวาระ 1 ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวุฒิสภา
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า พร้อมที่จะโหวตสนับสนุนกฎหมายการกู้เงินทั้ง 2 ฉบับให้รัฐบาล หากสามารถชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาวันนี้ได้อย่างชัดเจนถึงการนำเงินกู้รวม 8 แสนล้านบาทจากภายใต้ พ.ร.ก.และ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ไปใช้ประโยชน์ในส่วนใดบ้าง
นายสมชาย ยืนยันเรื่องนี้ไม่มีการต่อรองใดๆ ระหว่างรัฐบาลกับ ส.ว.
"ถ้าท่านชี้แจงได้เคลียร์ในสภาฯ(วุฒิสภา) ว่าเงินเอาไปใช้อะไร ผมก็จะให้ผ่านใน พ.ร.ก. และจะรับหลักการในวาระ 1 ของ พ.ร.บ.ด้วย...สภาฯ คงจะฟังเหตุฟังผล ไม่มีเรื่องต่อรองยื่นหมูยื่นแมวใดๆ แต่มีวามเป็นห่วงเม็ดเงินที่ลงไป เพราะถือเป็นความสำคัญของประเทศ" นายสมชาย กล่าว
พร้อมเห็นว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ผ่านหลักการในวาระแรกไปแล้ว ก็ควรจะมีการแก้ไขในชั้นของกรรมาธิการวุฒิสภา โดยเห็นว่าหากเป็นโครงการที่จะต้องอนุมัติในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ก็ควรต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อนในทุกโครงการ
"ถ้ารัฐบาลไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์(นายกรัฐมนตรี) หรือคุณกรณ์(รมว.คลัง)แล้ว เราไม่เห็นโครงการที่ชัดเจน อาจจะเกิดปัญหาได้...ซึ่งหลักการอาจจะรับวาระ 1 ไปก่อน แล้วไปแก้ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ เมื่อรัฐบาลต้องการจะผ่านโครงการใด ก็ต้องเข้าสภาทุกโครงการ ถ้ารัฐบาลโอเคก็ไม่น่าจะมีปัญหา"นายสมชาย กล่าว