นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า แม้วุฒิสภาจะไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ขยายเพดานภาษีน้ำมัน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณา พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และไม่ได้รู้สึกเสียหน้า เพราะถือเป็นเรื่องปกติตามกลไกของรัฐสภา
ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ก็ยังสามารถส่งเรื่องกลับไปให้ ครม.หารือใหม่ว่าจะนำกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้งในช่วงเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมนิติบัญญัติได้ ซึ่งจะเริ่ม 1 ส.ค.นี้ หรือ หากมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้
"ไม่ได้กังวลประเด็นนี้ ร่าง พ.ร.ก.และพ.ร.บ.กู้เงินฯ ได้ทำความเข้าใจกับสมาชิกวุฒิสภาแล้ว หากขัดข้องประเด็นใดก็สามารถซักถามได้ ซึ่งทางสมาชิกวุฒิสภา คงให้ความร่วมมือกับ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้"นายชินวรณ์ กล่าว
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวอีกว่า กรณีที่ที่มีรัฐมนตรี และ ส.ส.ที่กำลังถูก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยการถือหุ้นในบริษัทเอกชน เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจาณากฎหมายสำคัญต่างๆ เนื่องจากจะใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
โดยขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลมี 269 เสียง หากถูกชี้มูลความผิดจากการถือหุ้น 22 คน ยังคงเหลืออีก 247 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 196 เสียง หากถูกชี้มูลความผิด 8 คน ก็จะเหลือ 188 เสียง ขณะที่การลงมติโดยเสี่ยงกึ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ใช้คะแนนเสียง 217 คน ซึ่งเสียงฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินแล้ว
"รัฐมนตรีที่จะถูกชี้มูลความผิดการถือหุ้น เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน แต่ควรรอให้กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สิ้นสุด และหากศาลชี้ผิดจริงก็ให้ลาออกก่อน แล้วค่อยกลับมารับตำแหน่งใหม่ได้ เหมือนกรณี นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีต รมว.พาณิชย์"ประธานวิปรัฐบาล กล่าว