กลุ่ม 40 ส.ว.มีมติคัดค้านข้อเสนอแก้ไข รธน. 6 ประเด็นของ คกก.สมานฉันท์ฯ

ข่าวการเมือง Wednesday July 15, 2009 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้(16 ก.ค.52) เพื่อคัดค้านข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นในวันพรุ่งนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ ล้วนเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองและ ส.ส. โดยไม่มีประเด็นแก้ไขในเรื่องความสมานฉันท์ของประชาชน รังแต่จะสร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้น

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว.ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่มีความเป็นกลางเพราะมาจากพรรคการเมือง ขาดความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งข้อสรุปให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างอย่างรวบรัด และยังแอบแฝงเจตนาที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ

กลุ่ม 40 ส.ว.จะร่วมกับประชาชนผลักดันแนวทางที่เป็นรูปธรรม เพื่อหยุดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสังคมไทย เพราะเห็นว่า ส.ส.ควรจะมีข้อสรุปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนก่อนเรื่องของตัวเอง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ผลสรุปดังกล่าวแก้ปัญหาให้แก่ฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการยุบพรรค ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ หรือการเสนอนิรโทษกรรมจะทำลายระบบนิติรัฐ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ทั้งที่ปัญหาในการสร้างความสมานฉันท์ คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างสีต่างๆ การโฟนอิน การถวายฎีกา และการดึงสถาบันมาเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยังไม่มีคำตอบในการแก้ไข ดังนั้นการผลักดันตามแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนไม่เห็นด้วยออกมาลุกฮือต่อต้าน

ขณะที่การตั้งเป้าคือแก้รัฐธรรมนูญและกลับมาเลือกตั้งใหม่ในปีหน้าถือเป็นการลุอำนาจเกินไป และเชื่อว่าหากเลือกตั้งกลับมาใหม่ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองก็ยังไม่จบ

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บ้านเมืองไปไม่ถึงไหน รัฐบาลยุ่งแต่เรื่องกู้เงินและแบ่งเค้ก ดังนั้นรัฐบาลควรทำงานได้แล้ว นายกรัฐมนตรีควรจะฟังความเห็นของ ส.ว.เพราะเรามีส่วนที่ช่วยให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ

“ที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับ ส.ว. เท่าไหร่ เราต้องทำให้เห็นความสำคัญของกลุ่ม ส.ว.บ้าง นายกฯไม่ต้องไปกลัวพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหรือนิรโทษกรรมจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพราะพรรคประชาธิปัตย์แบ่งงบประมาณให้มหาศาล" ส.ว.เพชรบุรี ระบุ

นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง กล่าวว่า ต้องย้อนไปเมื่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่กระทรวงการต่างประเทศ หากไม่มี ส.ว.103 คนไปร่วมฟังการแถลงนโยบายเสียงของรัฐบาลจะไม่ครบก็ไม่สามารถแถลงนโยบายได้ ดังนั้น ส.ว.จึงมีส่วนช่วยให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

อนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน กำหนดจะเสนอรายงานต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ และจะเสนอให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ถาวรขึ้นมาติดตามการทำงานในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีความต่อเนื่อง

สำหรับบทสรุปรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค(มาตรา 237), ที่มาของ ส.ส.(มาตรา 93-98), ที่มาของ ส.ว.(มาตรา 111-121), การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา(มาตรา 190), การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.(มาตรา 265) และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนของ ส.ส.และ ส.ว.(มาตรา 266)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ