(เพิ่มเติม) กกต.ชี้ขาด 13ส.ส.ปชป.ถือหุ้นกิจการต้องห้าม"สุเทพ-ไตรรงค์-จุติ"ติดกลุ่ม

ข่าวการเมือง Thursday July 16, 2009 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถือครองหุ้นในบริษัทที่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งมีผลให้ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ โดยจะส่งผลการตัดสินให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย

"กกต.ยืนยันหลักการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลาง ให้โอกาสผู้ถูกร้องคัดค้านและชี้แจงข้อเท็จจริง เป็นการใช้มาตรฐานเดียวกันไม่เลือกข้างว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล...เมื่อเสียงข้างมากมีมติให้ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แนราษฎรก็ให้เป็นไปตามนั้น เราไม่มีเจตนากลั่นแกล้งให้รัฐบาลสั่นคลอน หรือให้กระทบกับวิกฤติการณ์การเมืองซึ่งผู้วางบรรทัดฐานและชี้ขาดในชั้นสุดท้ายก็คือศาลรัฐธรรมนูญ"นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงผลการประชุมวันนี้

พร้อมกันนั้น กกต.ยกคำร้องกรณีให้สอบสมาชิกภาพของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากภรรยาถือครองหุ้นกู้บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) เพราะเห็นว่าหุ้นกู้เป็นตราสารที่บริษัทบอกจำหน่ายเพื่อกู้ยืมเงิน ผู้ถือหุ้นกู้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้และได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ดังนั้น ไม่ได้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายการรับสัมปทานของรัฐ

"การถือหุ้นของภรรยานายกษิตที่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ในช่วงที่นายกษิตเข้ารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศนั้นไม่เข้าข่ายต้องห้ามจนเป็นเหตุให้นายกษิตต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี กกต.จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง"

สำหรับ 13 ส.ส.จาก 28 ส.ส.ที่ถูกยื่นคำร้องให้ กกต.ไต้สวนการถือครองหุ้นนั้น ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองเลขาธิการพรรค และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม., นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม., นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร,นายเธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก, น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช,

นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก, นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา, นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา, นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 และ น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8

ส่วน ส.ส.อีก 14 คน กกต.เสียงข้างมากมีมติยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าถือหุ้นในบริษัทที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กกต.เห็นว่าได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.สัดส่วนของพรรคปชป.ไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องนำมาพิจารณา

นายสุทธิพล กล่าวว่า กรณีของนายสุเทพนั้น ถือหุ้นหลายบริษัท และถือครองใน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)ที่ขัดต่อสมาชิกภาพ ส.ส.เพราะเป็นกิจการสื่อสารที่มีสัมปทานกับรัฐ ส่วนการถือหุ้นในบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ไม่ถือว่าขัดต่อสมาชิกภาพ

แต่สมาชิกภาพการเป็นรัฐมนตรีของนายสุเทพจะสิ้นสุดลงหรือไม่นั้น กกต.ไม่ได้มีการพิจารณาในประเด็นนี้ เนื่องจากคำร้องที่ส่งมาให้ กกต.ระบุให้พิจารณาเฉพาะสมาชิกภาพ ส.ส.เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ