นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับผลศึกษาและข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าจะกลับไปพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นอีก ซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และมอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเข้าวาระการประชุมสมัยนิติบัญญัติในต้นเดือน ส.ค.นี้ด้วย
"ผมเข้าใจดีว่ากว่าจะเป็นรายงานนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายพอสมควร ต้องยอมรับว่ายังมีบางประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เพราะฉะนั้นการพิจารณาของฝ่ายบริหารจะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายสภา โดยคำนึงถึงพื้นฐานความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ด้วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา 6 ประเด็น ได้แก่ มาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง แต่ให้คงสิทธิเรื่องการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเฉพาะผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำความผิด รวมทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนกระทำความผิดต้องได้รับโทษสูงขึ้น, มาตรา 93-987 ที่มาของ ส.ส.ควรเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน, มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง,
มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา โดยให้กำหนดประเภทที่ต้องได้รับความเห็นชอบก่อนไปลงนาม และประเภทที่สามารถทบทวนในระยะเวลาที่เหมาะสม, มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.สามารถทำได้ เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และ มาตรา 266 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ ส.ส.และ ส.ว.สามารถทำได้
ขณะที่การสร้างความสมานฉันท์มีข้อเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลจะมอบหมายให้ทางรัฐสภาเป็นเจ้าภาพดำเนินการ และมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันทถาวร เพื่อศึกษา ผลักดัน และสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปการเมือง
ส่วนแนวทางการปฏิรูปการเมืองนั้นให้เน้นเรื่องหลักยุติธรรม ระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยตามหลักแห่งการเป็นสังคมนิติบัญญัติ ควรมีการแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายซึ่งมีที่มามิชอบ เช่น คำสั่งคณะปฏิวัติ, ลดเงื่อนไขที่จะนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารและสร้างกลไกต่อต้านการรัฐประหารอย่างเป็นรูปธรรม