นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)คาดว่า กกต.จะใช้เวลาประมาณ 15 วันในการพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาที่ขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่ามีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการทำงานของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)
นางสดศรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะต้องส่งเรื่องคำร้องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการของ กกต.วินิจฉัยว่าจะเข้ากับข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 266 หรือไม่
"ไม่น่าจะนาน เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยของกกต.ได้ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว ก็คงรายงานให้ กกต.ทราบได้ภายใน 15 วัน เว้นแต่ข้อมูลต่างๆ ยังไม่ชัด ก็อาจขอขยายเวลาได้"นางสดศรี กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นางสดศรี ระบุว่า กกต.เคยรับวินิจฉัยคำร้องที่มีลักษณะเช่นนี้มาแล้วในกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่ ได้วินิจฉัยยกคำร้องไปแล้ว แต่กรณีล่าสุดของนายกรัฐมนตรี กกต.คงต้องขอพิจารณาระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ควบคู่กันไปด้วย
วานนี้(3 ส.ค.)นายเรืองไกร ยื่นคำร้องต่อประธานกกต.ขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีที่จะสิ้นสุดลงหากมีพฤติกรรมดังกล่าวจริง เนื่องจากเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ในข้อตกลงกับ ผบ.ตร.มีลักษณะจะทำให้การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของ ผบ.ตร.ต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการลาพักร้อนของ ผบ.ตร.เพื่อให้การปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในบางเรื่องสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่ติดขัด
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 266(1) บัญญัติว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประกอบกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10(11) กำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง