(เพิ่มเติม) ศาลพม่าตัดสิน "ซูจี" จำคุก 3 ปี ก่อน"ตาน ฉ่วย"สั่งลดโทษเหลือกักบริเวณปีครึ่ง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 11, 2009 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลพม่าตัดสินว่านางออง ซาน ซูจี มีความผิดจริงในข้อหาละเมิดข้อบังคับการกักบริเวณ โดยสั่งจำคุก 3 ปี ก่อนที่รัฐบาลได้ลดหย่อนโทษเป็นกักบริเวณ 18 เดือน

รายงานข่าวระบุว่า ในตอนแรก ศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกนางซูจี 3 ปี แต่หลังจากที่พักช่วงการอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 5 นาที พลตรี หม่อง อู รมว.มหาดไทยของพม่า ก็ได้เข้ามาในห้องตัดสินคดี และอ่านคำสั่งพิเศษที่มาจากพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งระบุให้ลดโทษนางซูจีเหลือ 18 เดือน และให้นางถูกกักบริเวณในบ้านแทนการจำคุก

รายงานยังระบุว่า พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ได้สั่งการให้ลดโทษของนางซูจีลงกึ่งหนึ่งตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีแล้ว โดยคำสั่งของผู้นำรัฐบาลทหารพม่าระบุถึงสาเหตุที่ลดหย่อนโทษว่าเป็นเพราะเห็นแก่ที่นางซูจีเป็นบุตรีของนายพล ออง ซาน ผู้เป็นวีรบุรุษของพม่า ตลอดจนเพื่อความสมานฉันท์ภายในชาติและกระบวนการประชาธิปไตย

โดยคำสั่งระบุด้วยว่า ในระหว่างที่นางซูจีถูกกักบริเวณในบ้าน นางจะได้รับอนุญาตให้ดูโทรทัศน์ช่อง MRTV ของรัฐบาล และอ่านหนังสือพิมพ์ รวมถึงได้รับการดูแลทางการแพทย์ นอกจากนี้ เธอยังสามารถพบแขกที่มาเยือนได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน ด้วยการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ด้านหญิงรับใช้ทั้งสองของนางซูจี ได้แก่ ขิ่น ขิ่น วิน และ วิน มา มา ก็ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและต้องถูกจำคุก 3 ปี แต่ได้ลดหย่อนโทษเหลือ 18 เดือนเช่นกัน

นายเหงียน วิน ทนายความของนางซูจีเปิดเผยว่า ลูกความของเขาอยู่แล้วว่าผลการตัดสินต้องออกมาในรูปแบบนี้ โดยทนายความของนางซูจี มีเวลา 60 วันในการยื่นอุทธรณ์สู้คดี แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะดำเนินการหรือไม่

นอกจากนั้นศาลยังตัดสินจำคุกนายจอห์น วิลเลียม เยตทอว์ ชายชาวอเมริกันวัย 53 ปี ที่แอบว่ายน้ำเข้าไปในบ้านพักของเธอเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นเวลา 7 ปี หลังตัดสินว่าผู้ต้องหามีความผิดใน 3 ข้อหา ได้แก่ เข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ละเมิดข้อบังคับการกักบริเวณนางซูจี และว่ายน้ำในทะเลสาบ แต่เขาไม่ได้รับการลดโทษแต่อย่างใด

คำตัดสินของศาลพม่ากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลก โดยหลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลทหารพม่าพยายามกักขังนางซูจีต่อไปเพื่อไม่ให้นางมีบทบาทโดยตรงในการเลือกตั้งทั่วประเทศในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานอาเซียน หลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างว่าขอดูคำพิพากษาและดูท่าทีของรัฐบาลพม่า รวมถึงต้องปรึกษาสมาชิกอาเซียนก่อนจึงจะออกแถลงการณ์ในนามของอาเซียนได้ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ