โดยเห็นว่าการแต่งตั้งดังกล่าวแม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการผิดระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน เนื่องจากการจะแต่งตั้งรักษาราชการแทนตำแหน่งใดนั้น ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องว่างลงและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จากเหตุของการเสียชีวิต ลาออก ให้ออก หรือปลดออก อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ที่มารักษาราชการแทนจะต้องเป็นไปตามลำดับอาวุโส
ดังนั้นจึงเห็นว่าการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้ พล.ต.อ.วิเชียร มารักษาราชการตำแหน่ง ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.พัชรวาท จึงถือว่าเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีนัยที่ทำให้เห็นว่าต้องการเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ผบ.ตร.
"ผมจะให้นายกฯ มาทำอะไรสะเปะสะปะกับต้นทางของสถาบันยุติธรรมไม่ได้...เรื่องนี้มีนัยเข้าไปก้าวก่ายการทำงาน นายอภิสิทธิ์ เอาอำนาจอะไรมาตั้งรักษาราชการแทน พล.ต.อ.พัชรวาท ที่เดินทางไปปฏิบัติงานภาคใต้ ทั้งๆ ที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร รักษาราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่ได้ขัดกับหลักนิติรัฐและนิติธรรม พร้อมชี้แจงว่าตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มีบทบัญญัติชัดเจนในมาตรา 72 วรรค 1 ว่าการแต่งตั้งรักษาราชการแทนในตำแหน่งที่ว่างลงให้เป็นไปโดยอำนาจของผู้บังคับบัญชา แต่หากไม่มีการแต่งตั้งก็ให้การรักษาราชการแทนเป็นไปตามลำดับขั้นอาวุโส
ดังนั้นจึงเท่ากับว่ากฎหมายได้ให้อำนาจการแต่งตั้งรักษาราชการแทนไว้ 2 แนวทาง คือ มาจากการแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชา หรือมาจากการเรียงลำดับอาวุโสก็ได้
"ถ้าแต่งตั้งก็เป็นอำนาจในการแต่งตั้ง แต่ถ้าไม่แต่งตั้งก็ให้เรียงตามลำดับขั้นอาวุโส ถามว่า ถ้าต้องแต่งตั้งคนที่อาวุโสสูงสุด กฎหมายคงไม่เขียนแบบนี้ แสดงว่าการให้อำนาจไว้แต่งตั้งสามารถพิจารณาแต่งตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามอาวุโส ดังนั้นการใช้อำนาจของผมจึงเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่ขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่บ้าอำนาจ ไม่ลุอำนาจ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังยกตัวอย่างการแต่งตั้งรักษาราชการแทน ผบ.ตร.โดยใช้แนวทางที่ไม่ได้มาจากการเรียงลำดับอาวุโสว่า เคยมีการแต่งตั้งในลักษณะนี้แล้วในสมัยของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันเจริญ ขึ้นรักษาราชการแทน ผบ.ตร. และในสมัยของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ขึ้นรักษาราชการแทนผบ.ตร.เช่นกัน
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม เห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีอ้างว่าการกระทำเช่นนี้สามารถปฏิบัติได้ ก็จำเป็นต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดยยกเลิกระเบียบการแต่งตั้งรักษาราชการแทนจากการเรียงลำดับอาวุโสเสียก่อน
พร้อมกันนี้ ในเรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้โปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.52 แล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ยอมลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที โดยอ้างว่าการจัดทำบัญชีรายชื่อตำรวจระดับผู้บังคับการลงมายังไม่เรียบร้อยนั้น ถือเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ ซึ่งฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้ไปยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนดังกล่าว แต่ได้มอบอำนาจให้กับตนเป็นผู้ดูแล ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(กตร.) เห็นว่า คำว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลันนั้น หมายความว่าต้องดำเนินการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งหมายถึงว่าควรจะจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจให้เรียบร้อยสมบูรณ์ก่อนที่จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้เพื่อไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และหากฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจง