นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ไม่เชื่อว่าหากมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย(ภท.) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะช่วยทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้ แต่กลับจะเป็นปมสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมได้อีก
"ถามจริงๆ ว่ามีใครเชื่อว่าจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ กล้าเอาคอเป็นประกันหรือไม่ว่าหากร่างกฎหมายสองฉบับนี้ผ่านแล้วทุกกลุ่มจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง...ให้ผมฟันธงว่าหากผ่านร่างกฎหมายสองฉบับนี้แล้วทั้งสองกลุ่มจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ผมฟันธงได้เลยว่าไม่มีทาง ดีไม่ดีอาจจะเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ"นายอภิสิทธิ์ ตอบข้อซักถามของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พท.เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความสมานฉันท์เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
วันนี้ นายอภิสิทธิ์ได้ให้การต้อนรับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 1(พตส.1) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่เดินทางเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและซักถามประเด็นทางการเมือง ซึ่ง พตส.รุ่นที่ 1 มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)เป็นประธานรุ่น และมีบรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมเป็นนักศึกษา เช่น นายพร้อมพงษ์, นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท., นายชูชาติ ประธานธัมต์(กุศล หมีเทศ)หัวหน้าการเมืองสีขาวในนามพญาธรรม เป็นต้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ไม่มีใครรู้ว่าหากออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกคนแล้วมันจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการชุมนุมใหม่แล้วขอนิรโทษกรรมได้อีกหรือไม่ และมันเป็นกฎหมายที่สร้างวงจรไม่จบไม่สิ้นของคนที่มีความคิดเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นมา แม้กระทั่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการบังคับใช้แล้วนั้น
"ถามว่าหากแก้ไขเสร็จแล้วทุกฝ่ายจะหยุดชุมนุมและหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงหรือไม่ หากหยุดจริงคิดว่าทุกฝ่ายยินดีทำอยู่แล้ว แต่เรารู้อยู่แก่ใจว่าบางกลุ่มไม่หยุด"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นในรัฐสภาเพราะมีผู้ชุมนุมคลางแคลงใจว่ารัฐบาลทำอะไรในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้นคือก้าวเริ่มต้นเปิดทางแต่มันเป็นเรื่องของรัฐสภา เพราะหากตนเองทำเรื่องนี้เอง อีกฝ่ายจะไม่เชื่อ เรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความขัดแย้งในช่วงที่ตนเองไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะมีการปะทะจนมีการเสียชีวิต ถามว่าเคยมีการสะสางโดยให้ผู้แทนประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่
นอกจากนั้น ยังย้ำเสมอว่าเดือน เม.ย.นั้นตนเองรักษากฎหมายไม่ได้คิดเรื่องเอาชนะคะคาน แบ่งแยกเป็นฝ่ายรัฐ-ฝ่ายผู้ชุมนุม และยังเรียกร้องให้คนที่บอกว่ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นขอให้นำรัฐธรรมนูญมากางดู เพราะเคยนำมากางดูแล้วพบว่าเป็นประเด็นที่กำหนดในรัฐธรรมนูญและจะมีกระบวนการแก้ไข
"หากถามว่าจะกลับมารักกันไหม ผมตอบไม่ได้เพราะไม่สามารถบังคับให้ใครรักกับใครได้ บางคนที่ทำตัวไม่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมก็ไม่ควรไปรัก และควรให้รู้ว่าควรทำประโยชน์ให้ส่วนรวม และมันอาจเกิดความสงสารและเห็นใจขึ้นได้ หากบอกว่ารักแล้วต้องตามใจนั้นคงไม่ได้ เพราะประโยชน์ของประเทศและประชาชนต้องมาก่อน หากทำตามแนวทางนี้และแม้บางฝ่ายจ้องไม่ให้เป็นไปตามแนวทางนี้นั้น ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว