In Focusยูคิโอะ ฮาโตยามะ ผู้กำชัยชนะและเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการการเมืองญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Monday August 31, 2009 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในที่สุดประวัติศาสตร์การครองอำนาจในรัฐบาลของพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพีของญี่ปุ่น ที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถูกจารึกโดย ยูคิโอะ ฮาโตยามะ วัย 62 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น หรือ ดีพีเจ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นอย่างสวยสดงดงาม

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า พรรคดีพีเจได้รับชัยชนะเหนือพรรคแอลดีพี ของนายทาโร่ อาโสะ โดยเอ็กซิทโพลล์ของสื่อทุกสำนักในญี่ปุ่นฟันธงว่าพรรคดีพีเจมีชัยชนะเหนือพรรคแอลดีพี รวมถึงโพลล์ของหนังสือพิมพ์อาซาฮีที่ระบุว่าพรรคดีพีเจจะกวาดที่นั่งในสภาแบบถล่มทลาย 320 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ขณะที่พรรคแอลดีพีจะได้ที่นั่งเพียง 100 ที่นั่ง จากเดิมที่มีอยู่ 300 ที่นั่ง ขณะที่ผลเอ็กซิทโพลล์ของโตเกียว บรอดแคสติง ซิสเตม บ่งชี้ว่าพรรคดีพีเจจะได้ที่นั่งในสภามากถึง 321 ที่นั่ง

หลังจากเอ็กซิทโพลล์ของสื่อทุกสำนักระบุว่า พรรคดีพีเจมีชัยชนะเหนือพรรคแอลดีพี นายอาโสะ ผู้นำพรรคแอลดีพี ได้ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และเตรียมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้พรรคแอลดีพีซึ่งปกครองประเทศเพียงฝ่ายเดียวเกือบตลอดระยะเวลา 54 ปีที่ผ่านมา ต้องตกเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2536-2537

สำหรับชัยชนะแบบถล่มทลายในครั้งนี้ หากพูดว่า ยูคิโอะ ฮาโตยามะ มาพร้อมกับดวงก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเขาเพิ่งก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคดีพีเจเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งพอเหมาะพอเจาะกับช่วงที่รัฐบาลโดยการนำของนายอาโสะกำลังระส่ำระสายพอดี โดยประชาชนกำลังเอือมระอากับการที่พรรคแอลดีพีเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นถึง 4 คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในเดียวกันอาโสะก็ไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจได้เป็นที่น่าพอใจของประชาชน และเคราะห์กรรมก็โหมกระหน่ำใส่พรรคแอลดีพีเป็นระลอกสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศว่าอัตราว่างงานประจำเดือนกรกฎาคมพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.7% ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ว่างงานสูงถึง 3.59 ล้านคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากตัดขาดจากพรรคแอลดีพี

ก่อนการเลือกตั้ง อาโสะพยายามดึงความนิยมกลับคืนมาด้วยการประกาศว่า จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจและสร้างตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่ง พร้อมกันนั้นยังอ้างว่านโยบายของเขานี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ด้วยอัตราการเติบโต 0.9% ในช่วงไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความนิยมของเขาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่แทบไม่รู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดีขึ้น นอกจากนั้นนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนยังวิตกว่าเศรษฐกิจอาจทรุดลงอีกเมื่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มคลายประสิทธิภาพ เพราะตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคยังซบเซา และเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเช่นเดิม

ส่วนทางด้าน คาโอรุ โยซาโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายามดึงคะแนนเสียงกลับมายังพรรคแอลดีพี ด้วยการออกมาเตือนว่าหากพรรคดีพีเจชนะการเลือกตั้ง ระบอบการปกครองญี่ปุ่นอาจเสี่ยงกับความเป็นเผด็จการพรรคเดียว เนื่องจากพรรคดีพีเจจะได้ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาสูง อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความนิยมในพรรคดีพีเจลดน้อยถอยลง ในขณะเดียวกันนักวิเคราะห์จำนวนมากยังเชื่อว่าการที่พรรคดีพีเจชนะการเลือกตั้งจะยิ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เนื่องจากในอดีตพรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ส่วนพรรคดีพีเจครองเสียงข้างมากในสภาสูง ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ชะงักงันเพราะขัดแข้งขัดขากันเอง

นอกจากนั้นนักวิเคราะห์บางส่วนยังเชื่อว่า การที่พรรคดีพีเจชนะการเลือกตั้งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนดีขึ้น เนื่องจากฮาโตยามะประกาศว่าจะใช้นโยบายที่ลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา และหันมาสานสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียมากขึ้น โดยหลิว เจียงหยง ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนและเคยพบปะกับผู้นำของพรรคดีพีเจหลายคน กล่าวว่า โดยรวมแล้วนโยบายของพรรคดีพีเจถือว่าเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น และถึงแม้ภายในพรรคอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสมาชิกพรรคก็ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

เมื่อพูดถึงความแตกต่างกันในพรรค นักวิเคราะห์อีกส่วนมองว่า พรรคดีพีเจยังขาดความเป็นเอกภาพในพรรค เนื่องจากจุดเริ่มต้นของพรรคมาจากการรวมตัวกันอย่างง่ายๆ ของพรรคขนาดเล็กที่ต้องการร่วมกันต่อกรกับพรรคแอลดีพีเพื่อเอาตัวรอดในการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่วางไว้หรือตามอุดมการณ์ นอกจากนั้นพรรคดีพีเจยังถูกโจมตีว่า ขาดประสบการณ์ในการปกครองบ้านเมืองและดีแต่คิดนโยบายประชานิยมซึ่งในความจริงทำได้ยากโดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยนโยบายดังกล่าวได้แก่ การปฏิรูประบบประกันสังคม การเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือน การช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตรให้ได้เรียนฟรี การยกเลิกค่าทางด่วน พร้อมให้คำมั่นว่าจะไม่ขึ้นภาษีใดๆ ทั้งสิ้น

ถึงแม้จะยังมีข้อด้อยในหลายๆ ด้าน และยังอ่อนประสบการณ์ในการบริหารประเทศ แต่ในที่สุดพรรคดีพีเจโดยการนำของ ยูคิโอะ ฮาโตยามะ ก็ได้รับโอกาสให้บริหารประเทศในสภาพการณ์ที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอนาคตของญี่ปุ่นจะออกหัวหรือก้อยนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป

ประวัติโดยสังเขปของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

ยูคิโอะ ฮาโตยามะ เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 ในฐานะทายาทรุ่น 4 ของตระกูลใหญ่ที่มั่งคั่งและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงสุดตระกูลหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น โดยอิจิโร่ ฮาโตยามะ ปู่ของเขา เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วนอิอิจิโร่ ฮาโตยามะ ผู้เป็นบิดาก็เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และคุนิโอะ ฮาโตยามะ น้องชาย ก็เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารในรัฐบาลนายอาโสะ แต่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ฮาโตยามะจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ก่อนที่จะไปศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนีย จากนั้นได้ทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิจัยที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และได้ย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเซนชูในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

ฮาโตยามะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี พ.ศ.2529 โดยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฮอกไกโดในสังกัดพรรคแอลดีพี และหลังจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องถึง 6 สมัย แต่ในปี พ.ศ.2536 เขาได้หันหลังให้พรรคแอลดีพีเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของพรรค ก่อนที่จะก่อตั้งพรรคดีพีเจขึ้นในปี พ.ศ.2539

ฮาโตยามะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคดีพีเจครั้งแรกในระหว่างปี พ.ศ.2542-2545 แต่ในปีถัดมาเขาได้ถอยลงมาเป็นเลขาธิการพรรค เมื่อ อิจิโร่ โอซาวะ นำเอาพรรคลิเบอรัล ปาร์ตี้ เข้ามาควบรวมด้วยและขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ.2549 แต่ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับเงินบริจาคทางการเมืองจนกระทั่งโอซาวะยอมลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และสมาชิกพรรคได้เลือกให้ฮาโตยามะกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งด้วยคะแนนเสียง 124 จาก 219 เสียง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนเขาก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 93 ของแดนอาทิตย์อุทัย



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ