(เพิ่มเติม) ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อต่อ ปธ.วุฒิสภา เสนอแก้ รธน.6 ประเด็นสำคัญ

ข่าวการเมือง Monday September 7, 2009 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ว.และ ส.ส.รวมทั้งหมด 155 คน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดยขอให้บรรจุญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น

ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 ที่ระบุให้ต้องมีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสองสภาเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

สำหรับการยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย การแก้ไขมาตรา 93-98 การปรับปรุงที่มาของ ส.ส., มาตรา 111-121 การปรับปรุงที่มาของ ส.ว., มาตรา 190 เป็นการกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องลงนามกับต่างประเทศให้ชัดเจนเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ,

มาตรา 237 ปรับปรุงบทลงโทษกรณียุบพรรคและการถอดถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมือง,มาตรา 265 ปรับปรุงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.โดยให้สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และ ยกเลิกมาตรา 266 (1) ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปมีบทบาทต่อการบริหารงานของข้าราชการประจำและงบประมาณในโครงการต่างๆ ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญยื่นมี 6 ประเด็น ซึ่งมาจากรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่ตกผลึกแล้ว และออกมานานกว่า 2 เดือนและไม่มีใครคัดค้าน โดยเชื่อว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์มากกว่าแตกแยก

"ประเด็นที่ 7 ในเรื่องอำนาจในการวินิจฉัยใบเหลืองใบแดงของ กกต.เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ คนหนึ่งเท่านั้น จึงเห็นตรงกันว่าอย่าพึ่งนำมาใส่ไว้เอาเฉพาะ 6 ประเด็นที่ตกผลึกก่อน" นายประสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่กับการขู่จะยื่นถอดถอนผู้ร่วมลงชื่อต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะเมื่ออาสาประชาชนมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ แต่ถ้าหากมีการยื่นต่อ ป.ป.ช.ก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ และยืนยันว่า ส.ว.ไม่มีส่วนได้เสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน และหากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะไปดำเนินการ

ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติก่อนนั้นจะถือเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายประสิทธิ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยขอให้ไปถามพรรคประชาธิปัตย์เอง และระบุว่าไม่เข้าใจถึงกรณีที่มีตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส. และ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มีทั้งสิ้น 152 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 80 คน, พรรคประชาราช 3 คน, พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน, พรรคภูมิใจไทย 1 คน, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน สว.ลงชื่อ 64 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ