ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)วันนี้มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 โดยเห็นว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา
ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาตำรวจนครบาล(ผบช.น.) มีความผิดทั้งทางอาญาและวินัยร้ายแรง
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ มีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับนายสมชายในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ต.ค. 51 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้สั่งการ เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา
ขณะที่พล.อ.ชวลิต มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานะเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา
นอกจากนี้ ยังมีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงในฐานความผิดเดียวกันแก่ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีคำสั่งให้หยุดสลายการชุมนุมทั้งที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ส่วนนายตำรวจคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ที่ประชุมฯ เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้มูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีกับนายสมชาย, พล.อ.ชวลิต, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเสนอผู้บังคัญบัญชาเพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ
และกรณีประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้ถอดถอนนายสมชายออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาให้ดำเนินการนั้น ที่ประชุมฯ ก็ได้มีมติให้ส่งรายงานไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ด้านนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความของนายสมชาย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลปกครอง ฐานหลีกเลี่ยง ละเว้นการเข้าพบคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง อีกทั้งยังขอมีคำสั่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าพบคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก่อนชี้มูลความผิดดังกล่าว
เนื่องจากก่อนหน้านี้นายสมชายได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้ารับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนชี้มูลความผิด ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40(7) ซึ่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้นัดให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.เข้าพบในวันที่ 8 ก.ย.นี้ แต่ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้เร่งรัดชี้มูลความผิดในวันนี้จึงถือเป็นการข้ามขั้นตอน และที่ผ่านมา ป.ป.ช.ก็ไม่เคยเรียกนายสมชายและ พล.อ.ชวลิต เข้าชี้แจง ดังนั้นคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ในวันนี้จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบ และเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157