ภาคประชาชนชูตั้งชมรมคนดีในทุกองค์กร ลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นขยายวง

ข่าวการเมือง Friday September 11, 2009 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "วิกฤตคุณธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน อะไร อย่างไร" ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมมาภิบาล ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยระบุว่าในอดีตคนไทยถูกหล่อหลอมด้วยความคิดหลากหลายรูปแบบ เช่น เอาหูไปนาเอาตาไปไร่, น้ำขึ้นให้รีบตัก, รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ซึ่งมีการหล่อหลอมว่าไม่ควรยุ่งเรื่องของคนอื่น ประกอบกับระบบของไทยสั่งสอนให้ต้องทดแทนบุญคุณกับผู้มีพระคุณ

สิ่งสำคัญในขณะนี้คือต้องสร้างสำนึกในการป้องกันการคอรัปชั่นร่วมกัน โดยเริ่มจากตัวเองและต้องเริ่มจากในบ้านก่อน อย่าสร้างความรู้สึกให้คนที่ทำความดีเป็นแกะดำ แต่ต้องทำให้คนที่ทำความดีหยัดยืนอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างามและต้องทำให้การทำความดีเป็นเรื่องที่ขยายต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

"อยากเสนอให้มีการจัดตั้งชมรมคนดีขึ้นในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นส่วนร่วมในการขยายความดีและส่งเสริมให้คนทำความดีและให้คนดีมีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคมได้อย่างไม่โดดเดี่ยว" นางจุรี กล่าว

นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งการคอรัปชั่นแบบทวนน้ำ คือใช้อำนาจอิทธิพลในหน้าที่ของตนเองตัดสินใจอย่างไม่ถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และการคอรัปชั่นแบบตามน้ำ เป็นการคอรัปชั่นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่คลอบคลุมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับในขณะที่ดำรงตำแหน่งสาธารณะ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หลายประเทศได้หาวิธีแก้ไข โดยบางประเทศใช้ระบบการเขียนรายงาน คือ รัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ว.หากได้รับของกำนัลมามากน้อยเท่าไหร่ก็ต้องเขียนรายงานให้ต้นสังกัดได้รับทราบและต้องส่งมอบของที่ได้รับนั้นให้เป็นของหลวง ซึ่งกระบวนการแบบนี้ในประเทศไทยยังไม่มีและสมควรที่จะมี

ส่วนในเมืองไทยนั้น นายธีรภัทร ระบุว่า ต้องสร้างกลไกมาบังคับให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำดัชนีชี้วัดให้ประชาชนเห็นถึงหลักธรรมาภิบาลและการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าหน่วยงานใดได้ดัชนี้ชี้วัดต่ำก็เท่ากับเป็นการกดดันให้ต้องปรับปรุงตนเอง

"สิ่งที่น่าสังเกตอีกข้อคือขณะนี้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคริสตศักราช 2003 ซึ่งประเทศเราได้ให้สัตยาบันไว้ในวันที่ 10 ธ.ค.50 อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติเห็นพ้องต้องกันและตราขึ้น ซึ่งภาคีที่เป็นอนุสัญญาหากไม่ได้ทำอนุสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าเขาลงนามในภาคีฉบับนี้เรียกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่คอรัปชั่น และทำผิดในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้" นายธีรภัทรกล่าว

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตวุฒิสภา กล่าวว่า การปกครองในระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยทุกวันนี้เป็นเพียงแค่รูปแบบ แต่เนื้อหายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังมีระบบการเก็บส่วยจากภูมิภาคเข้าสู่ส่วนกลาง เปลี่ยนจากระบบการเก็บส่วยตามหัวเมืองมาเป็นการคอรัปชั่นตามกระทรวง เราจะต้องสร้างคนไทยให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติทีเกี่ยวกับระบบอุปถัมน์แบบเดิมๆ ออกไปให้หมด ต้องสร้างเครือข่ายประชาชนในแนวราบที่จะมาร่วมตรวจสอบในเรื่องนี้ให้ได้อย่างจริงจัง

"การทำความดีเราไม่จำเป็นต้องคาดหวังให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของการทำความดีก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยซึ่งหนึ่งใน 30 เปอร์เซ็นต์นั้นต้องเริ่มที่ตัวเรา" น.ส.รสนา กล่าว


แท็ก คุณธรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ