นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับดินแดนของไทย กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลผลประโยชน์ของชาติ ไม่ให้เกิดการเสียดินแดน และกระทบอธิปไตยของไทย ขณะเดียวกันการดำเนินการใดๆ ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการปะทะ หรือการสูญเสีย แต่ต้องแก้ไขด้วยสันติวิธี ไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศ
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้น ฝ่ายไทย ได้แจ้งการยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ในสมัย นายเตช บุนนาค เป็น รมว.ต่างประเทศ และฝ่ายกัมพูชาได้รับหนังสือจากฝ่ายไทยแล้ว จึงถือเป็นการยอมรับการยกเลิกแถลงการณ์ร่วม และไม่ถือเป็นสนธิสัญญา ขณะที่รัฐบาลได้มอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ตึงเครียด และเกิดการปะทะตามแนวชายแดน ขณะที่รัฐบาล พยายามจะคืนสภาพชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ที่เคยเป็นตลาด วัด ถนน และมีชาวไทย และกัมพูชาอาศัยอยู่ โดยการคืนสภาพพื้นที่ดังกล่าว จะไม่มีผลต่ออธิปไตยของไทย แต่ดำเนินการผ่านกระบวนการเจรจา และฝ่ายกองทัพ ได้มีการตรึงกำลังในพื้นที่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลผลประโยชน์ ไม่ให้เสียสิทธิ เสียดินแดน แต่เราไม่ต้องการให้เกิดการปะทะหรือการสูญเสีย แก้ได้ด้วยสันติวิธี การหารือกับ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ดูเหมือนจะเข้าใจด้วยดี ไม่ให้กระทบความสัมพันธ์สองประเทศ แต่คนไทยทุกคนควรร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไทย พร้อมผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ มีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย ในการเพิ่มการค้า การลงทุน เปิดจุดผ่านแดน ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก
นอกจากนี้ยังมีประเทศนอกกลุ่มอาเซียน คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประกาศให้เงินช่วยเหลือเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลจะมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ และเป็นเอกภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา การเสนอขอเงินช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ยังเป็นลักษณะกระจัดกระจาย และจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และเตรียมพร้อมในการประชุมเอเปค และอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ตนเองจะเดินทางเข้าร่วมประชุม จี 20 และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐอเมริกา