"เรืองไกร"ยื่น กกต.สอยนายกฯ แจกงบแสนลบ.ให้ปตท.เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Monday September 14, 2009 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายแทรกแซงการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ, รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือไม่ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พ.ค.52 อนุมัติงบประมาณโครงการลงทุนของ บมจ.ปตท.(PTT) เพื่อลงทุนเกี่ยวกับพลังงานทดแทนจำนวน 113,809 ล้านบาท ภายใตัโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ของบประมาณจากรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ว่าด้วยการนำเสนอร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีกต่อไป และโครงการการดำเนินงานของ ปตท.ก็มิได้อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด แม้ว่า ปตท.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เกิน 50% ก็ตาม

ทั้งนี้ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบุคคลอื่นมีส่วนเป็นเจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นด้วย การดำเนินกิจการจึงอยู่ในรูปแบบของบริษัทเอกชนที่รัฐจะเป็นเจ้าของตามส่วนการเป็นผู้ถือหุ้น และ ปตท.มีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการถือครองหุ้นในรูปเงินปันผลเท่านั้น ปตท.จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชนไปแล้วตามที่ศาลปกครองเคยพิพากษาไว้ก่อนหน้านี้

"ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่าการที่ ปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากองค์การของรัฐ ซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชนไปเป็นบริษัทมหาชนซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนแล้ว ปตท.จึงมิได้มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป และไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้กระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51% แต่ก็ไม่ได้หมายความกระทรวงการคลังจะถือหุ้นเกิน 50% ตลอดไป เพราะอาจจจะถือหุ้นต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ก็ได้ การอนุมัติงบประมาณกว่า 1 แสนล้านให้ ปตท.จึงไม่น่าจะถูกต้องและอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ กกต.พิจารณาต่อไป"นายเรืองไกร กล่าว

ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอาจเข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 และมาตรา 266 (1) ที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และอาจทำให้ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตาม มาตรา 182 ด้วย



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ