นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ดำเนินการภายใต้กรอบและระเบียบในการดูแลการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ในวันที่ 19 ก.ย.
พร้อมเน้นย้ำให้ตรวจสอบการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด และให้ใช้ความระมัดระวังและขอความร่วมมือจากประชาชนที่มาชุมนุมให้ชุมนุมโดยสงบ
"นายกฯ ได้กำชับ ศอ.รส.ให้ทำตามกรอบ ระเบียบ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และให้ทบทวนการใช้อุปกรณ์อย่างเคร่งครัด ทดสอบอุปกรณ์อย่าให้เกิดข้อผิดพลาด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)
ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า การตั้งด่านตรวจต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้น จะมีการตั้งด่านตรวจความปลอดภัยโดยประกาศห้ามใช้เส้นทางเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง คือบริเวณสโมสรทหารบก ในเส้นทางคู่ขนานถนนศรีอยุธยา ฝั่งติดกับสโมสรทหารบก(แยกสี่เสาเทเวศร์-แยกหอประชุมกองทัพบก) และ ซ.สามเสน 12 (ปากซอยด้าน ถ.สามเสน-สุดซอยด้าน ถ.ราชสีมา)
รวมทั้งของเดิมที่เคยประกาศห้ามใช้เส้นทางในบริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย ถ.นครปฐม(แยกเทวกรรม-สะพานชมัยมรุเชษฐ), ถ.ลูกหลวง(แยกเทวกรรม-จุดตัดกับ ถ.ราชดำเนินนอก) และเส้นทางคู่ขนานของ ถ.ราชดำเนินนอก ฝั่งติดรั้วทำเนียบรัฐบาล โดยกองกำลังที่จะใช้รักษาความสงบเรียบร้อยในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร จำนวน 63 กองร้อย ประกอบด้วย ทหาร 33 กองร้อย, ตำรวจ 30 กองร้อย รวมถึงพลเรือน ของกอ.รมน.ในกรุงเทพฯ 350 นาย
ส่วนบริเวณรอบนอกพื้นที่เขตดุสิตจะมีการตั้งด่านตรวจ โดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ทั้งนี้จะมอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ ศอ.รส.
สำหรับการคลี่คลายสถานการณ์หากมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น หรือมีการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จะใช้หลักสากลจากเบาไปถึงหนัก โดยจะชี้แจงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกขั้นตอน เริ่มจากการเจรจา, การผลักดันออกจากพื้นที่, การควบคุมแกนนำ(ถ้าทำได้), ใช้น้ำฉีด, ชี้แจงผ่านเครื่องขยายเสียงในการใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และการใช้กระสุนยาง
พ.อ.สรรเสริญ เชื่อว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนี้จะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น แต่การดำเนินการของ ศอ.รส. ถือเป็นเพียงการเตรียมการไว้เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทเท่านั้น
"ก็ได้เตรียมการไว้เพื่อไม่ประมาท ยังเชื่อมั่น คนไทยด้วยกันคุยกันรู้เรื่อง" โฆษกกองทัพบก กล่าว
ทั้งนี้ ศอ.รส.ประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงคาดว่าจะมีประมาณ 2-3 หมื่นคน ส่วนจะมากขึ้นหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการระดมมวลชนในเขตพื้นที่ปริมณฑล และภูมิภาค แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการสกัดกั้นประชาชนในต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่จะเน้นการตั้งจุดตรวจอาวุธที่อาจจะนำเข้ามาก่อกวนในการชุมนุมได้ และพร้อมให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบการทำงานในทุกขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กอ.รมน.ยังได้หารือถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมจะไปประท้วงเพื่อผลักดันให้ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงประเด็นนี้ พร้อมกำชับว่าจะต้องไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ที่ขึ้นไปชุมนุมกับประชาชนที่อาจจะไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งในส่วนของทหารได้วางกำลังตามแนวชายแดนไว้อยู่แล้ว และคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมราว 2 พันคน