ส.ว.เสียงแตก ตั้ง สสร.3-ทำประชามติ แก้รัฐรธน.ถกหาข้อสรุปสัปดาห์หน้า

ข่าวการเมือง Friday September 18, 2009 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา หรือวิป 3 ฝ่ายเสนอตั้งให้มีการตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ขณะนี้ได้มีการประสานแนวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 รูปแบบแล้ว คือการจำลองการตั้ง ส.ส.ร. มีตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม จาก ส.ส. ส.ว. ส.ส.ร. ปี 40 และ ส.ส.ร.ปี 50 พิจารณาแก้ไข 6 ประเด็นตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเท่านั้น

อีกแนวทางหนึ่งคือการทำประชามติ รับฟังความคือเห็นจากประชาชนใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยขณะนี้กำลังรอร่างพ.ร.บ.ประชามติผ่านสภาอยู่เพื่อสามารถบังคับใช้ได้

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเลือกแนวทางที่ 1 จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน จึงจะสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ขณะแนวทางที่ 2 อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน และใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ตนเองมั่นใจว่าการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะไม่สูญเปล่าเพราะได้นำข้อสรุป ทั้ง 6 ประเด็นไปปฏิบัติ

"ข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร.ตามที่วิป 3 ฝ่ายระบุ ไม่ได้มีเจตนาจะรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับส่วน ข้อสรุปจะออกมาแนวทาง 1 หรือ 2 จะนัดหารืออีกครั้งในสัปดาห์หน้า" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า จุดยืนของรัฐบาลที่เสนอให้ตั้งส.ส.ร.3ขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแนวทางที่ยอมรับได้ แต่หากพิจารณาสัดส่วนที่รัฐบาลเสนอมานั้นยังขาดสัดส่วนของภาคประชาชน ดังนั้นเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อศึกษาประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะเชิญ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส หรือนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) มาร่วมกันศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีมุมมองแตกต่างจาก 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ

"คณะกรรมการชุดที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน มีแต่นักการเมือง ย่อมต้องการแก้กติกาที่เอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง หากให้ทำงานควบคู่ไปกับส.ส.ร.3 และสุดท้ายเมื่อได้ประเด็นที่จะแก้ไขก็โยนให้ส.ส.ร.3 ทำประชามติสอบถามประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ต้องเสียงบประมาณ 2 พันล้านที่จะต้องจ่ายเพราะถ้าลดความขัดแย้งในสังคมได้ก็ถือว่าคุ้ม" นายสมชาย กล่าว

นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ วิปรัฐบาล กล่าวว่า ทางพรรคเห็นด้วยว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดคือเรื่องมาตรา 190 และการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งเป็นวันแมนวันโหวต ซึ่งถือว่าเป็นการนำร่องในการแก้รัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนักการเมือง

ส่วนสาเหตุที่ต้องการผลักดันเรืองนี้เห็นว่าบ้านเมืองจะได้กลับมาสงบและประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ได้เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการเลือกตั้ง เพราะเป็นนักการเมืองต้องรับได้ทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่คงจะไม่มีการยื้อเวลาอีกแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ