(เพิ่มเติม) ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องจำเลย 44 คนคดีทุจริตกล้ายาง ไม่ต้องชดใช้เงิน

ข่าวการเมือง Monday September 21, 2009 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คนทั้งนักการเมือง ข้าราชการพลเรือน และ บริษัทเอกชน ในคดีทุจริตการจัดซื้อกล้ายางพาราในโครงการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ จึงไม่ต้องชดใช้เงิน 1,440 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ยื่นฟ้องไว้

"องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 44 กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยังไม่ได้เสียเงินไปในโครงการนี้แต่อย่างใด จำเลยทั้ง 44 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่สำนักงานฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง"ศาลฯ อ่านคำพิพากษา

ผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ เริ่มอ่านพิพากษาตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น.โดยระบุว่าการที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) พิจารณาอนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบในการใช้เงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานในวงเงิน 1,440 ล้านบาทเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ดังนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก.ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 รวมทั้ง กรรมการ คชก.ที่ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง จำเลยที่ 2, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 3 และ นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 5 รวมทั้ง กรรมการ คชก.ไม่มีความผิดในประเด็นการอนุมัติใช้เงิน คชก.ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งการขอให้ใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราในอนาคตเพื่อนำมาทยอยชำระคืนกองทุน คชก.เป็นเวลา 15 ปีนั้น ศาลเห็นว่าไม่ใช่การขอใช้เงินที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการระบุถึงการใช้เงินในอนาคต จึงไม่ถือว่าขัดกับกฎหมาย

นอกจากนั้น ศาลฯ ยังเห็นว่านายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 4 และนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้นโครงการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราตามนโยบายรัฐบาล และผู้เสนอโครงการและขออนุมัติการใช้เงินในโครงการ ไม่ได้มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงในประเด็นการเสนอขอใช้เงินจากกองทุน คชก.

ส่วนกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 19-26 ซึ่งเป็นข้าราชการที่รับผิดชอบในการประกวดราคาจัดซื้อกล้ายางกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาพันธุ์ยางชำถุงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าประกวดราคารายหนึ่งรายใดมีสิทธิได้เข้าทำสัญญากับรัฐนั้น ศาลเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการประกวดราคาครั้งนี้มีการเปิดกว้างให้แก่ผู้ที่เสนอราคาทุกรายอย่างเป็นธรรม ทั้งในส่วนของคุณสมบัติของผู้เสนอราคา และการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ยางชำถุง ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อจำกัดให้มีการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม

และ ไม่มีการช่วยเหลือผู้เสนอราคา หรือเอื้อเฟื้อให้แก่ผู้เสนอราคารายใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 30-32 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เข้าประมูลตามที่โจทก์กล่าวหา

ส่วนกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 20-22 และจำเลยที่ 25-26 ละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทผู้เข้าประกวดราคากล้ายางพารานั้น หลังจากพิจารณาหลักฐานต่างๆ แล้วศาลฯ เห็นว่าจำเลยที่ 20-22 และ 25-26 ไม่ได้มีเจตนาจะร่วมกันละเลยในการตรวจสอบคุณสมบัติของจำเลยที่ 30-32 ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องของโจทก์

ด้านประเด็นความผิดที่โจทก์ระบุของจำเลย 30-32 นั้น ศาลฯ เห็นว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขของการประกวดราคา และไม่ได้มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนที่ดินที่ใช้ในการเพาะกล้ายางก็ไม่พบว่ามีการแจ้งเกินกว่าจำนวนที่ใช้จริง แต่จำนวนที่ดินที่ใช้จริงก็ยังเกินกว่าคุณสมบัติที่ทางการกำหนด ดังนั้น จำเลยที่เหลือ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ