ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน(วิป) 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก เห็นชอบให้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ภายใต้กรอบ 6 ประเด็นซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาก่อนหน้านี้ แล้วที่ประชุมฯ จะนำมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
"ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบ 6 ประเด็น" นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าว
สำหรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ได้แก่ มาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง แต่ให้คงสิทธิเรื่องการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเฉพาะผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำความผิด รวมทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนกระทำความผิดต้องได้รับโทษสูงขึ้น,
มาตรา 93-987 ที่มาของ ส.ส.ควรเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน, มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง, มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา โดยให้กำหนดประเภทที่ต้องได้รับความเห็นชอบก่อนไปลงนาม และประเภทที่สามารถทบทวนในระยะเวลาที่เหมาะสม,
มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.สามารถทำได้ เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และมาตรา 266 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ ส.ส.และ ส.ว.สามารถทำได้
ประธานวิปรัฐบาล คาดว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ ที่ประชุมฯ จะสามารถกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการแก้ไขเป็นรายประเด็น หรือรวบทั้ง 6 ประเด็นแก้ไขทีเดียว รวมทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นพ้องตรงกันที่จะให้ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนร่วมลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
ด้านนายวิทยา บูรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หลังจากนี้แต่ละพรรคจะได้แยกย้ายกันไปรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.3) หรือไม่ และฝ่ายค้านพร้อมที่จะร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีหลังจากเดินทางกลับจากสหรัฐ