เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ หลายคนคงยังจำกันได้ถึงกระแส "โอบามา ฟีเวอร์" ที่ระบาดไปทั่วโลก
แต่ดูเหมือนว่ากระแสความนิยมชมชอบในตัว “บารัค โอบามา" ได้พุ่งถึงขีดสุดไปแล้วและกำลังเริ่มเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา เมื่อผลสำรวจคะแนนนิยมชี้ว่า ชาวอเมริกันเริ่มมีความรู้สึกชื่นชมผู้นำของพวกเขาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนรับตำแหน่งหรือหลังรับตำแหน่งใหม่ๆ
ขณะที่ในเวทีโลกก็ดูจะไม่ต้อนรับเขามากเท่าที่ควร กับเหตุการณ์ล่าสุดที่โอบามาไม่สามารถล็อบบีคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ให้โหวตเลือก ชิคาโก บ้านเกิดของเขาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2016 แม้ว่าเขาจะยอมอุทิศเวลาอันมีค่าเดินทางไปถึงเดนมาร์กเพื่อโน้มน้าวคณะกรรมการฯด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องหน้าแตกเมื่อชิคาโกโดนเขี่ยตกรอบแรกจากบรรดาคู่แข่งทั้งหมด 4 เมือง
แต่แล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ได้เกิดเรื่องเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อผลการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2009 ตกเป็นของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา กับคำถามที่ตามมาทันทีจากทั่วทุกสารทิศ...
ทำไม? เพราะเหตุใด?
ก่อนหน้านี้ แม้โอบามาจะเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ที่มีสิทธิได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่ก็เป็นเพียง nominee ปลายแถว เมื่อเทียบกับตัวเก็งที่โดดเด่นท่านอื่นๆ อาทิ มอร์แกน ทวานกิราย นายกรัฐมนตรีซิมบับเว หู เจี่ย ผู้เรียกร้องประธาธิปไตยชาวจีน และ ธิค กว๋าง โดะ พระผู้รณรงค์ประชาธิปไตยในเวียดนาม เป็นต้น
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ทำให้รางวัลโนเบลสันติภาพปีนี้เป็นที่กังขาก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าโอบามาเพิ่งจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐได้ไม่ถึงปี และยังไม่สามารถสร้างผลงานได้เป็นชิ้นเป็นอัน นอกเหนือไปจากคำมั่นสัญญาและคำพูดสวยหรู ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า เร็วไปไหม? และ สมควรแล้วหรือ? ยิ่งเมื่อนำผลงานที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างของเขาไปเปรียบเทียบกับผู้ชนะรางวัลในอดีต อาทิ องค์ดาไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต (1989) นางออง ซาน ซู จี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิไปไตยในพม่า (1991) นายโคฟี่ อันนัน อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (2001) เป็นต้น
ไม่ต้องไปมองใครที่ไหน เพราะแม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังแปลกใจสุดขีดที่ได้รับรางวัลนี้ โดยโอบามาได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวหลังจากที่ทราบว่าตนได้รับรางวัลว่า เขารู้สึกประหลาดใจ พร้อมกับถ่อมตนว่าไม่คู่ควรหรือไม่อาจเทียบเคียงกับบรรดาผู้ชนะรางวัลในอดีตที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่โลกใบนี้
ถ้าเช่นนั้น เหตุใดโอบามาจึงพลิกโผ กลายเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพปีนี้ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมต่างๆ ผู้ที่จะตอบคำถามและไขข้อข้องใจได้ดีที่สุดก็คือ คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Nobel Committee) ผู้ตัดสินใจมอบรางวัลให้กับประธานาธิบดีผิวสีวัย 48 ปีผู้นี้
คารมเป็นต่อ ...
“ความพยายามทางการทูตอันยอดเยี่ยมในเวทีระหว่างประเทศ" และ “การเสริมสร้างความร่วมมือจากมวลชนทั่วโลก" คือคุณสมบัติสำคัญที่ดลใจให้คณะกรรมการโนเบลตัดสินมอบรางวัลปีนี้ให้แก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แถลงการณ์ของคณะกรรมการฯระบุว่า ศิลปะทางการทูตของโอบามาได้สร้างบรรยากาศใหม่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เป็นคุณสมบัติที่ผู้นำโลกควรจะมี เพื่อการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆ แม้ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยากที่สุด อาทิ การผลักดันให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ การแก้ปัญหาโลกร้อน และการลดความตึงเครียดกับโลกมุสลิม เป็นต้น
“นานทีปีหนเท่านั้นจึงจะมีบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับโอบามาปรากฏขึ้น นั่นก็คือผู้ที่สามารถดึงดูดและตรึงความสนใจของประชาคมโลกและทำให้ประชาชนมีความหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้น"
Thorbjoern Jagland ประธานคณะกรรมการโนเบลซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 5 ท่าน ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของนอร์เวย์ว่า คณะกรรมการเทคะแนนให้โอบามาอย่างเป็นเอกฉันท์และเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยุ่งยากหรือลำบากใจเลย
สำหรับคำถามซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายอยากรู้คำตอบมากที่สุดก็คือว่า เหตุใดคณะกรรมจึงเลือกนายโอบามาทั้งที่เขาทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้เพียง 9 เดือน Jagland ก็ได้ให้เหตุผลว่า “นั่นเป็นเพราะเราต้องการสนับสนุนสิ่งที่โอบามากำลังพยายามทำให้สำเร็จ" ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับเมื่อครั้งที่คณะกรรมการโนเบลได้มอบรางวัลให้แก่ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในปี 1990 จากความพยายามของเขาที่จะเปิดประตูสหภาพโซเวียตสู่โลกภายนอก
อาจกล่าวได้ว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ เป็นกำลังใจให้กับเจตนาที่ดี มากกว่าจะเป็นรางวัลสำหรับความสำเร็จดังเช่นการมอบรางวัลหลายครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการหวังว่ารางวัลนี้จะช่วยกระตุ้นให้โอบามาผลักดันความตั้งใจของเขาให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในอนาคต
ขณะที่เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2008 อดีตประธานาธิบดี มาร์ตติ อาห์ติซารี ของฟินแลนด์ ก็ได้กล่าวแสดงความเห็นชี้ชัดลงไปว่า คณะกรรมการโนเบลต้องการที่จะให้กำลังใจและสนับสนุนโอบามาในประเด็นต่างๆที่เขากำลังอภิปรายบนเวทีโลก
“ผมมองว่านี่เป็นกำลังใจที่สำคัญมาก" อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์กล่าว โดยมาร์ตติ อาห์ติซารี ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีที่แล้ว จากบทบาทในการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่มานานกว่า 30 ปี ซึ่งรวมถึงการเป็นผู้เจรจาจนช่วยให้รัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มกบฏในจังหวัดอาเจะห์บรรลุข้อตกลงอันนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ทศวรรษเมื่อปี 2005
โอบามานับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่ง ตามหลังประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ซึ่งได้รับรางวัลในสาขานี้ในปี 1906 และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ในปี 1919 ส่วนอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ได้รับรางวัลในปี 2002 หรือหลังจากพ้นตำแหน่งแล้วนานหลายปี
วาทะและบทบาทการทูตของโอบามาบนเวทีโลก
ถึงแม้ยังไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เป็นรูปเป็นร่าง แต่ประธานาธิบดีโอบามาก็ได้สื่อให้เห็นถึงความพยายามของเขาผ่านถ้อยแถลงในวาระโอกาสต่างๆ อาทิ
- ในเดือนเม.ย. โอบามาได้เปิดตัวแผนสร้างสรรค์โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เขากล่าวว่า สหรัฐอเมริกาจะลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และเรียกร้องให้ชาติอื่นๆดำเนินการเช่นเดียวกัน
- ในเดือนมิ.ย. โอบามาได้เปิดใจกับโลกมุสลิมในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ว่า ความตึงเครียดระหว่างโลกมุสลิมและตะวันตกนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรง ชี้ศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสันติภาพ ซึ่งถ้อยแถลงของนายโอบามามีเป้าหมายที่จะประสานรอยร้าวระหว่างสหรัฐและโลกมุสลิม
- ในเดือนก.ค. ในโอกาสเดินทางเยือนภูมิภาคแอฟริกาเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ โอบามากล่าวกับชาวแอฟริกันว่า ความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกต้องดำเนินควบคู่ไปกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งสื่อว่าโอบามากำลังกระตุ้นให้ชาวแอฟริกันมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อยุติสงคราม การทุจริตคอร์รัปชั่น และโรคร้ายที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของทวีป พร้อมกับกล่าวแสดงความเห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพอย่างกาน่า สามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆในแอฟริกาได้
- ในการเดินทางเยือนตะวันออกกกลาง โอบามากล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องเดินหน้าอย่างแน่วแน่และเด็ดเดี่ยว" และ “สันติภาพที่ครอบคลุมในตะวันออกกลางไม่ใช่การแข่งขันที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายเสียประโยชน์ แต่เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างก็เป็นผู้ชนะ
- ในเดือนก.ย. โอบามาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรก โดยเขาได้กดดันให้ผู้นำโลกช่วยกันเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในอัฟกานิสถานไปจนถึงท่าทีเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ แทนที่จะมาคาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ด้วยตัวเองเพียงประเทศเดียว
- ในเดือนก.ย. โอบามาได้นั่งเป็นประธานการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติร่างมติของสหรัฐที่เรียกร้องให้นานาประเทศยกเลิกการแพร่กระจายและการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
สตรี 5 ท่านผู้ร่วมสร้างสีสันให้รางวัลโนเบล 2009
การประกาศผลรางวัลโนเบลเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลโนเบลได้ทยอยประกาศรางวัลในสาขาต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 5-9 ต.ค. ไล่ตั้งแต่การแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และสันติภาพ ก่อนที่จะข้ามสุดสัปดาห์มาปิดท้ายที่สาขาเศรษฐศาสตร์ในวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.
โดยสาขาเศรษฐศาสตร์มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel ซึ่งเป็นสาขาเดียวที่ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของอัลเฟรด โนเบลในปี 1895 แต่เป็นรางวัลที่ธนาคารกลางสวีเดนได้ก่อตั้งขึ้นตามหลังในปี 1968
สำหรับเซอร์ไพรส์ใหญ่สุดของการประกาศผลรางวัลปีนี้คงหนีไม่พ้นการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปครองแบบพลิกความคาดหมาย อย่างไรก็ดี สาขาที่เหลือก็มีสีสันไม่แพ้กัน เนื่องจากมีผู้หญิงเก่งผงาดขึ้นมากวาดรางวัลได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันเกือบครบทุกสาขาเลยทีเดียว
ทำเนียบผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาต่างๆประจำปี 2009 ได้แก่
สาขาการแพทย์: นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน 3 ราย คือ นางอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น (Elizabeth H. Blackburn) วัย 60 ปี นางแครอล เกรเดอร์ (Carol W. Greider) วัย 48 ปี และนายแจ๊ก โซสตาก (Jack W. Szostak) วัย 56 ปี คว้ารางวัลนี้ไปครองร่วมกันจากการค้นพบกลไกการทำงานของเซลล์สำหรับสร้างเอนไซม์เทโลเมอเรส ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการแก่ตัวของเซลล์ อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็ง
ถือว่าแบล็กเบิร์นและเกรเดอร์ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 108 ปีที่มีผู้หญิงได้รางวัลนี้พร้อมกันถึง 2 คน โดยเป็นผู้หญิงคนที่ 9 และ 10 ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
สาขาฟิสิกส์: แบ่งเป็น 2 รางวัลมอบให้แก่ ชาร์ลส เกา (Charles K. Kao) ชาวจีนวัย 76 ปีซึ่งถือสัญชาติสหรัฐและอังกฤษ จากความสำเร็จในการพัฒนาการส่งสัญญาณแสงได้ในระยะยาวโดยผ่านเส้นใยแก้วนำแสง (fiberoptic cable) และอีกรางวัลมอบให้แก่ วิลลาร์ด บอยล์ (Willard S. Boyle) วัย 85 ปี และ จอร์จ สมิธ (George E. Smith) วัย 79 ปี สำหรับนวัตกรรมการสร้างภาพด้วยสารกึ่งตัวนำ หรือซีซีดีเซ็นเซอร์ (CCD sensor)
โดยสาขาฟิสิกข์เป็นหนึ่งในสองสาขาที่ไม่มีผู้หญิงได้รับรางวัล
สาขาเคมี: เป็นการครองรางวัลร่วมกันของ 3 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและชาวอิสราเอล ได้แก่ นางอาดา โยนาธ (Ada Yonath) ชาวอิสราเอล วัย 70 ปี นายเวนกาตรามัน รามากฤษนัน (Venkatraman Ramakrishnan) ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียวัย 57 ปี และ นายโธมัส สติทซ์ (Thomas Steitz) วัย 69 ปี จากผลงานการทำแผนที่ “ไรโบโซม" ในระดับอะตอม การทำงานของไรโบโซมเป็นหนึ่งในกลไกที่ซับซ้อนที่สุดของเซลล์ โดยไรโบโซมสร้างโปรตีนที่คอยควบคุมกระบวนการทางเคมีของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นความเข้าใจในเรื่องนี้จึงถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยชีวิตมนุษย์
ทั้งนี้ โยนาธนับเป็นสตรีคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี และเป็นสตรียิวคนแรกที่ได้รางวัลนี้
สาขาวรรณกรรม: นางแฮร์ทา มุลเลอร์ (Herta Muller) นักเขียนหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายโรมาเนียวัย 56 ปี ซึ่งได้รับการสดุดีจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลว่า งานเขียนของเธอใช้ภาษาดุจบทกวี แต่ตรงไปตรงมา สามารถพรรณนาและบรรยายให้เห็นภาพการพลัดพรากและการสูญเสียในยุคที่รัฐบาลเผด็จการของอดีตประธานาธิบดี นิโคไล โซเซสคู ปกครองประเทศโรมาเนีย ผลงานสร้างชื่อในระยะแรกคือรวมเรื่องสั้น "Niederungen" และงานเขียนหลายเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เช่น "The Passport" และ "The Appointment"
นางมุลเลอร์เป็นชาวเยอรมันคนที่ 10 และเป็นสตรีคนที่ 12 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
สาขาเศรษฐศาสตร์: ชายหญิงชาวอเมริกัน เอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) วัย 76 ปี และ โอลิเวอร์ วิลเลียมสัน (Oliver Williamson) วัย 77 ปี ได้รับรางวัล จากผลงานการวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ" โดยคณะกรรมการได้กล่าวยกย่องความทุ่มเทพยายามของออสตรอมและวิลเลียมสันในการค้นคว้าวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งสามารถจุดประกายให้เรื่องนี้กลายมาเป็นที่สนใจในระดับแนวหน้าดังเช่นปัจจุบัน
โดยออสตรอมยังได้รับการบันทึกประวัติศาสตร์ในฐานะสตรีคนแรกที่คว้าโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งสาขานี้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1968
ผู้ชนะรางวัลในแต่ละสาขาจะได้รับเหรียญรางวัลโนเบล ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินมูลค่า 10 ล้านโครเนอร์ (1.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 40 กว่าล้านบาท)
สำหรับพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล นักอุตสาหกรรมและนักเคมีชาวสวีเดน ผู้ริเริ่มก่อตั้งรางวัลอันทรงเกียรตินี้ขึ้นก่อนเสียชีวิต ด้วยความเสียใจที่ระเบิดไดนาไมต์ที่เขาคิดค้นขึ้นถูกพัฒนาไปเป็นระเบิดปรมาณูคร่าชีวิตผู้คน เขาจึงได้อุทิศ 94% ของทรัพย์สินให้เป็นทุนรางวัลสำหรับบุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติในสาขาต่างๆ
โดยรางวัลโนเบล 5 สาขา ได้แก่ การแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และเศรษฐศาสตร์จะมีพิธีมอบที่ประเทศสวีเดน ส่วนพิธีมอยรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะจัดขึ้นที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ซึ่งทำเนียบขาวเผยว่า ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเอง และจะมอบเงินรางวัลที่ได้ให้แก่องค์กรการกุศลต่างๆ