คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานรัฐสภาเริ่มประชุมนัดแรก โดยมีนายจเร พันธุ์เปรื่อง รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะทำงานเป็นประธานการประชุม ซึ่งมั่นใจจะวางกรอบการทำงานเสร็จก่อนการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ตค.นี้ พร้อมย้ำเป็นกลางทางการเมือง
ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า คณะทำงานประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีหน้าที่ให้บริการทางด้านกฎหมายแก่สมาชิกทั้ง 2 สภาอยู่แล้ว ดังนั้นคณะทำงานจะศึกษารัฐธรรมนูญว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรตามที่ประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายได้ประสานมา
การทำงานจะยึดหลักเกณฑ์การยกร่างกฎหมายด้วยการพูดคุยสอบถามว่ามีความประสงค์และความต้องการอย่างไร มีหลักการเหตุผลและข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานมีนักวิชาการกฎหมายศึกษาค้นคว้าข้อมูลในการยกร่าง เมื่อได้ประเด็นแล้วจะตรวจสอบว่าตรงกับสาระสำคัญที่ผู้ร้องขอต้องการหรือไม่ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด
ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า ในการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันที่ 22 ต.ค.นี้ คาดว่า จะได้กรอบแนวทางที่จะดำเนินการแล้ว และขอยืนยันว่าคณะทำงานฯ มีความเป็นกลางทางการเมือง โดยจะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ร้องขอ ส่วนฝ่ายใดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่สามารถไปแก้ไขได้ตามความต้องการ
สำหรับการยกร่างจะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ ร่างที่มีทั้ง 6 ประเด็น และร่างที่มีแต่ละประเด็นรวม 6 ฉบับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน เพียงให้เกิดความชัดเจนในสาระสำคัญที่จะยกร่าง และเบื้องต้นทางฝ่ายการเมืองยังไม่ได้ประสานหรือกำหนดกรอบเวลาการทำงานมา และคณะทำงานฯ ยังไม่ได้หารือกับตัวแทนของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"หากเป็นไปได้มีโอกาสได้พูดคุยและทราบถึงสาระสำคัญในการยกร่างจะเป็นประโยชน์มาก เพราะกรอบที่มีอยู่กรรมการสมานฉันท์ฯอาจจะมีความเห็นในแต่ละประเด็นได้หลายทาง คณะทำงานจึงต้องการถามเพื่อให้ได้ความชัดเจน" นายจเร กล่าว
ส่วนยกรณีที่ฝ่ายการเมืองบางส่วนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายจเร กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นความเห็นของฝ่ายการเมือง สำนักงานมีหน้าที่ให้บริการยกร่างเหมือนการยกร่างกฎหมายให้สมาชิกตามปกติ เมื่อยกร่างให้แล้วสมาชิกจะเสนอหรือไม่ หรือจะเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง