โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคมีมติให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอองคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พร้อมยืนยันไม่มีความขัดแย้งภายในพรรคตามที่เป็นข่าว แต่สื่อตีความหมายคลาดเคลื่อน
"ยังยืนยันในแนวทางการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองที่นายกรัฐมนตรีได้ให้รัฐสภาได้ดำเนินการและนำไปสู่การทำประชามติ จุดยืนของพรรคคือฟังเจตนารมณ์ของประชาชน จึงมีมติให้แสวงหาความร่วมมือจากวิปสามฝ่ายในการประชุมวันที่ 22 ตุลาคม" น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค ปชป.กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข่าว ส.ส.ในพรรคคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมฯว่าไม่มีความขัดแย้งกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และไม่ได้พูดว่าพรรคแตกแยก แต่สื่อไปตีความคลาดเคลื่อนเอง ซึ่งที่ประชุมฯ ได้กำชับให้นายชาญชัยไปแก้ข่าวต่อสื่อมวลชนในโอกาสต่อไป สำหรับการทำงานของเลขาธิการพรรคกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปด้วยดี ไม่มีการกดดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินการถอดถอนเลขาธิการพรรคตามธรรมนูญพรรค และเพื่อให้เกิดความชัดเจนกรณีกรรมการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 14 คน ที่เคยเสนอความเห็นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2550 เป็นการดำเนินการในฐานะที่ถูกร้องขอให้ส่งความเห็นไป เป็นการดำเนินการโดยเอกเทศเพื่อให้ข้อมูล ไม่มีลักษณะการตกลงกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)
"พรรคไม่เคยมีการเปลี่ยนจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ใน 6 ประเด็น หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายโดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน และการทำประชามติจะมีความสำคัญมากกว่าความเห็นของพรรคการเมืองหรือ ส.ส.คนใดคนหนึ่งแต่เพียงลำพัง และวันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้เอกสิทธิ์กับ ส.ส. เพราะประชามติจะเป็นทิศทางที่สำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นพ.บุรณัชย์ กล่าว
โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ให้ ส.ส.ไปสอบทานความเห็นกับประชาชน เพราะพรรคมีกระบวนการประชาธิปไตยเป็นไปตามอุดมการณ์และวัฒนธรรมของพรรค ไม่ประสงค์จะเห็นสังคมแปรความผิดว่าพรรค ปชป.แตกแยก สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพ ขณะนี้พรรคมีความสมบูรณ์ ข่าวความแตกแยกเป็นเรื่องไม่จริง
ด้าน น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า พรรคได้หารือเรื่องประเด็นความแตกแยกนานกว่าการประชุมทุกครั้ง โดยพรรคไม่ปิดกั้น ถือเป็นสิทธิของ ส.ส.ที่จะพูดกับสื่อ และยินดีที่จะให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็น แต่สุดท้ายพรรคมีวัฒนธรรมว่าทุกคนมีสิทธิแตกต่าง แต่สุดท้ายจะจบในที่ประชุมพรรค หลังจากมีความเป็นเอกภาพทางความคิด
ที่ประชุมฯ ได้ประเมินว่ามี 2 ยุทธศาสตร์ที่จ้องทำลายพรรค ได้แก่ 1.ทำให้สังคมเห็นว่าพรรคมีความแตกแยกหรือขัดแย้ง ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ย้ำว่าอย่าหลงกลกับสิ่งที่เกิดขึ้น และ 2.การกล่าวหาว่ารัฐบาลมีการทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ฝากความเห็นไปยังรัฐมนตรีของพรรค
"วันนี้พรรคได้เปิดโอกาสให้สมาชิกที่ถูกพาดต่อสังคมได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน หลังเคลียร์กันแล้วทุกคนเข้าใจกันดี" น.พ.วรงค์ กล่าว