Hot News In Japan: โตเกียวมอเตอร์โชว์เงียบเหงา-นายกฯญี่ปุ่นมุ่งมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 27, 2009 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวฮ็อตในญี่ปุ่นสัปดาห์นี้มีทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ เริ่มต้นกันที่โตเกียว มอเตอร์ โชว์ อดีตงานยักษ์ของเจ้าแห่งตลาดรถอย่างญี่ปุ่นในปีนี้ต้องเงียบเหงาไปถนัดใจ หลังจากที่ค่ายรถต่างประเทศจำนวนมากเมินไม่เข้าร่วมงานโดยอ้างเรื่องการประหยัดงบค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้เข้าชมงานบางตา ขณะที่การเมืองและเศรษฐกิจในประเทศก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อไม่นานมานี้ได้ยอมรับในการกล่าวแถลงนโยบายในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้ ทางด้านนายฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่นจะงดเข้าร่วมการประชุม G-20 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเซนต์แอนดรูว์ ประเทศสก็อตแลนด์ในวันที่ 6-7 พ.ย.นี้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับกิจการภายในประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์สำคัญซึ่งมีการประชุมสภาไดเอทนัดพิเศษ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

โตเกียว มอเตอร์ โชว์ กร่อย ผู้เข้าชมงานลดฮวบ

ออแกไนเซอร์งานโตเกียว มอเตอร์ โชว์ คาดว่า จะมีผู้เข้าชมงานไม่ถึง 1 ล้านคนตามที่ได้มีการตั้งเป้าไว้ในระหว่างการจัดงาน 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน หลังจากที่จัดงานมาได้ 3 วัน มีผู้มาเยี่ยมชมงานเพียง 150,500 คน หลังจากที่ค่ายรถยนต์จากต่างประเทศขอถอนตัวจากการร่วมงานเกือบทั้งหมด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ไม่มีบริษัทผู้ผลิตรถต่างชาติรายใหญ่รายใดเข้าร่วมงานเลย โดย บีเอ็มดับเบิลยู และ เมอร์เซเดส เบนซ์ เป็นสองค่ายแรกที่ตัดสินใจถอนตัว ตามมาด้วย โฟล์คสวาเกน, ออดี้, เจนเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด, ไครส์เลอร์, วอลโว่, ซาบบ์, เปอโยต์, เฟียต, จากัวร์, แลนด์โรเวอร์, ฮุนได ฯลฯ โดยแทบทั้งหมดให้เหตุผลว่าต้องการ “ประหยัดงบ" สรุปแล้วงานปีนี้มีผู้ตอบรับร่วมงานเพียง 108 บริษัท ซึ่งในจำนวนนั้นมีบริษัทต่างชาติเพียงแค่ 3 บริษัทคือ อัลพิน่า จากเยอรมนี รวมถึง แคเทอร์แรม คาร์ส และ กรุ๊ป โลตัส จากอังกฤษ เทียบกับงานในปี 2007 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 241 บริษัทและเป็นบริษัทต่างชาติมากถึง 26 บริษัท

งานโตเกียว มอเตอร์ โชว์ ครั้งที่ 41 ปีนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมมากุฮาริ เมสเซ ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงโตเกียว โดยมีบริษัทเข้าร่วมงาน 109 แห่ง ขณะที่ปีที่แล้วมีบริษัทเข้าร่วมงานถึง 241 แห่ง

จำนวนที่ลดลงอย่างมากนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทผู้ผลิตรถที่หันไปให้ความสนใจตลาดจีนแทนตลาดญี่ปุ่น

เมื่อปี 2534 มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 2,018,500 คน ขณะที่ในปี 2550 มีผู้เข้าชมงาน 1,425,800 ราย

นายกฯญี่ปุ่นคาดอัตราว่างงานยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ พร้อมกับชี้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินนั้นยังมีผลกระทบที่รุนแรงกับเศรษฐกิจและอัตราว่างงานอยู่ สถานการณ์ต่างๆจึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้

นายกฯญี่ปุ่นกล่าวแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกในวันนี้ว่า เรายังคงยืนอยู่ที่ทางแยกว่า เดินทางไปในทิศทางที่ชะลอตัวต่อไปด้วยการใช้แนวคิดแบบเดิมๆหรือหาหนทางใหม่ๆ

รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นต้องรับหน้าที่ดูแลปัญหาทางเศรษฐกิจต่อจากรัฐบาลชุดก่อน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่พุ่งสูงขึ้น หนี้สินรัฐบาลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประชารที่หดตัวลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะสูงขึ้นแตะระดับ 6% ในปีหน้า

นายฮาโตยามะกล่าวต่อไปว่า วาระที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือการช่วยเหลือและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและช่วยเหลือธุรกิจต่างๆให้สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศได้ และยังให้คำมั่นเรื่องการส่งร่างพรบ.ช่วยเหลือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้มากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่าแนวคิดที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยให้ประชาชนต้องเสียสละนั้นไม่ได้ผล เขาจึงอยากเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถอยู่กับประชาชนได้

นอกจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะซบเซาซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลชุดนี้แล้ว นายกฯญี่ปุ่นยังย้ำด้วยว่า ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นและอย่างเท่าเทียมกัน ปม้ว่าก่อนหน้านี้ นายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐซึ่งได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ผลักดันให้ญี่ปุ่นสรุปเรื่องการโยกย้ายฐานทัพของทหารสหรัฐที่ตั้งอยู่ที่เกาะโอกินาว่าหรือไม่ให้แล้วเสร็จก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 12-13 พ.ย.นี้

ขณะที่นายฮิโรฟูมิ ฮิราโน่ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาในการฟิจารณาเรื่องนี้ และยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้ก่อนที่ประธานาธิบีโอบามาจะเดินทางเยือนญี่ปุ่น

อดีตรมว.เศรษฐกิจและการคลังญี่ปุ่นติงการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่น

นายเฮอิโซ ทาเคนากะ อดีตรมว.เศรษฐกิจและการคลังญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองติงการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เป็นการบ่อนทำลายแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

"รัฐบาลชุดนี้กำหนดนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้เพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็ฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ร่วงลงอย่างรุนแรง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมวิตกกังวลอย่างมากคือ รัฐบาลยังไม่มีนโนบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุมอันจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของประเทศ" ทาเคนากะกล่าว

บลูมเบิร์กรายงานว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนายทาเคนากะสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลในกลุ่มนักวิเคราะห์ที่ว่า แผนการของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐตรีญี่ปุ่นที่กระตุ้นภาคครัวเรือนนั้นอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลก ดังนั้น รัฐบาลอาจเผชิญแรงกดดันให้ต้องทบทวนนโยบายในปีนี้เพื่อลดภาระหนี้สิน

นอกจากนี้ นายทาเคนากะ กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจขยายตัวได้เพียง 2.5% ต่อปี หากรัฐบาลยังคงสานต่อนโยบายการผ่อนคลายข้อบังคับและลดภาษีนิติบุคคล พร้อมทั้งเสริมว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวกว่า 1%

ด้านนายนาโอโตะ คาน รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในเดือนนี้ว่า รัฐบาลยังไม่ต้องการกำหนดเป้าหมายการสร้างความสมดุลงบประมาณในขณะนี้ เพราะยังมุ่งเน้นที่การลดอัตราว่างงานให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งนายทาเคนากะมองในจุดนี้ว่า จริงอยู่ที่การใช้จ่ายเงินงบประมาณในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่หากรัฐบาลไม่ยอมปรับลดการใช้จ่ายก็อาจสร้างปัญหาเรื่องงบประมาณขาดดุลตามมา ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายโดยให้ความสำคัญ 2 ประเด็นนี้ไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้ นายฮาโตยามะกล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่สุดของรัฐบาลชุดนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ