นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาลงโทษตามคำพิพากษาของศาล ถือเป็นการทำหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายและความถูกต้อง
"เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องรักษากฎหมาย ติดตามตัวมาลงโทษ...ถ้ารัฐบาลไม่ทำก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายสาทิตย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ถามสดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในไทย
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะไปต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ว่ามูลความผิดไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามสนธิสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็เป็นเรื่องตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นๆ
"เป็นสิทธิของท่าน(ทักษิณ)ที่จะไปต่อสู้กระบวนการในประเทศนั้น แต่ผมถือว่ารัฐบาลไทย ผู้ประสานงานตามกฎหมายของไทย และกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเรามีหน้าที่รักษา" นายสาทิตย์ กล่าว
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ไม่ใช่มูลความผิดที่รัฐบาลจะนำไปใช้เป็นเหตุผลที่จะขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ตามสนธิสัญญาที่มีข้อตกลงไว้กับประเทศต่างๆ
"เป็นความร่วมมือเฉพาะการปราบปรามอาชญากรรมเท่านั้น...ความผิดอย่างนี้ไม่เข้าความผิด 2 ประเทศ มันไม่อยู่ในเกณฑ์ขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กัน" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
อีกทั้งกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามสากลนิยม เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการสอบสวนคดี ก่อนที่จะส่งคำร้องให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเพียงศาลเดียว และยังเป็นคดีทางการเมือง
"ผมยืนยัน พ.ต.ท.ทักษิณ ทำสิ่งที่กฎหมายห้าม แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย...คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่คดีอาชญากรรม เป็นคดีทางการเมือง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมีเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1.มีสนธิสัญญาต่อกัน 2.เป็นความผิดด้วยกันทั้งสองประเทศ และ 3.ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การเมือง และสิทธิการเป็นพลเมืองตามกฎบัตรของสหประชาชาติ