โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีแนวโน้มที่จะพลาดจากการดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของสหภาพยุโรป (อียู) หลังประสบความล้มเหลวในการขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสังคมนิยมในยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ
โดยหลายฝ่ายหันไปให้ความสนใจในตัวผู้นำที่มีชื่อเสียงในระดับโลกน้อยกว่าแบลร์ ไม่ว่าจะเป็น แจน ปีเตอร์ บัลเคเนนเด นายกรัฐมนตรีฮอลแลนด์ หรือ ปาโว ลิปโปเนน อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์
"ผมยินดีที่มีผู้ร่วมชิงตำแหน่งดังกล่าวเพิ่มขึ้น" โฮเซ่ หลุยส์ ร็อดริเกซ ซาปาเทโร นายกรัฐมนตรีสเปน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคแรงงานของแบลร์ กล่าวเมื่อวานนี้ที่สุดยอดการประชุมอียูในบรัสเซลส์
ขณะเดียวกันผู้นำอียูก็บรรลุข้อตกลงที่จะเอื้อให้สาธารณรัฐเช็กให้สัตยาบันสนธิสัญญาลิสบอนเป็นชาติสุดท้าย หลังที่ประชุมยอมรับเงื่อนไขของเช็กที่ขอเลือกไม่รับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนพ่วงมาในสนธิสัญญาลิสบอน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินของประเทศไม่ให้ถูกอ้างสิทธิโดยชาวเยอรมันที่ถูกขับออกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนอุปสรรคด่านต่อไปที่ต้องเผชิญคือวุฒิสมาชิกเช็กที่ยื่นเรื่องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้รับสัตยาบันสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งศาลจะตัดสินว่าจะรับคำร้องหรือไม่ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม แจน ฟิชเชอร์ นายกรัฐมนตรีเช็ก กล่าวว่า "สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะไม่มีอุปสรรคใดๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน