ศาลรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเช็กตัดสินว่าสนธิสัญญาลิสบอนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เปิดทางให้ประธานาธิบดีวาคลาฟ เคลาส์ สามารถลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจและกำหนดนโยบายภายในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แต่เดิมประธานาธิบดีเช็กเป็นเสมือนอุปสรรคสุดท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อไม่นานมานี้เขากล่าวว่าจะไม่ต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้อีกต่อไป เนื่องจากเขาพอใจที่สหภาพยุโรปยอมรับเงื่อนไขของเช็กที่ขอเลือกไม่รับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนพ่วงมาในสนธิสัญญาลิสบอน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องทรัพย์สินของประเทศไม่ให้ถูกอ้างสิทธิโดยชาวเยอรมัน 2.5 ล้านคนที่ถูกขับออกไปจากเช็กโกสโลวาเกียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้งนี้ ปัจจุบันสาธารณรัฐเช็กเป็นสมาชิกอียูเพียงประเทศเดียวจากทั้งหมด 27 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาลิสบอน และหากประธานาธิบดีเช็กลงนามภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ สนธิสัญญาดังกล่าวก็จะมีผลบังคับใช้ทั่วสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป และจะทำให้ความสนใจหันไปจับจ้องในประเด็นที่ว่าใครจะมารับตำแหน่งประธานอียูคนแรก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้นำอียูไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ว่าผู้ใดจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว และอาจต้องมีการจัดประชุมนัดพิเศษขึ้นเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ในเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถือเป็นตัวเก็งที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนโอกาสของเขาจะริบหรี่ลง หลังประสบความล้มเหลวในการขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสังคมนิยมในยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ
ขณะที่หลายฝ่ายหันไปให้ความสนใจในตัวผู้นำที่มีชื่อเสียงในระดับโลกน้อยกว่าแบลร์ ไม่ว่าจะเป็น แจน ปีเตอร์ บัลเคเนนเด นายกรัฐมนตรีฮอลแลนด์ ปาโว ลิปโปเนน อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ และนายกรัฐมนตรี ฌอง-คล็อด จุงเกอร์