คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ของวุฒิสภา มีมติให้ถอนตัวจากการเข้าร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เนื่องจากฝ่ายค้านถอนตัวไปก่อนหน้านี้ ทำให้เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ให่เกิดขึ้นในชาติได้
"ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายค้านได้ถอนตัวออกไป จึงเหลือเพียงฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา ทางคณะกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าวุฒิสภาไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 วุฒิสภา กล่าว
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติ ดังนั้น เมื่อฝ่ายค้านถอนตัวออกไปการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อ้างว่านำไปสู่การสมานฉันท์จึงทำไม่ได้
"คณะกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป และยังเห็นตรงกันว่าตัวแทนของวุฒิสภา 2 คนที่ไปร่วมดำเนินการกับทางรัฐบาลไม่ใช่ตัวแทนของ ส.ว.ทั้งหมด" นายสุรชัย กล่าว
เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ช่วงนี้เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 22 คณะ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโควตาวิปวุฒิของแต่ละคณะกรรมาธิการ ดังนั้น จึงไม่สมควรอ้างเป็นตัวแทนของวิปวุฒิอีก
"คณะกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากรัฐบาลเห็นควรให้แก้ไขต่อไปก็ให้ทำในนามของรัฐบาลฝ่ายเดียว ส่วน ส.ว.ท่านใดจะมีความเห็นสนับสนุนก็เป็นการแสดงความเห็นในนามส่วนตัว" นายสุรชัย กล่าว
ขณะที่ พล.ท.พงษ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส.ว.พะเยา กล่าวว่า หากคณะกรรมการยังครบองค์ประกอบจาก 3 ฝ่าย เราก็เห็นด้วยที่จะให้เดินหน้าต่อ แต่เมื่อเหลือ 2 ฝ่ายอย่างนี้ คิดว่าถึงทำไปก็คงไปไม่ถึงไหน ไม่เต็มร้อย จึงเห็นควรที่วุฒิสภาจะถอยทิ้งระยะห่างชะลอให้สถานการณ์ดีกว่านี้ก่อน