(เพิ่มเติม) รัฐสภาแขวนวาระบันทึกประชุม กมธ.เขตแดนร่วมไทย-เขมรประชุมต่อพรุ่งนี้

ข่าวการเมือง Monday November 9, 2009 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประชุมร่วมรัฐสภาค้างพิจารณาวาระ 9 บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หลังมีสมาชิกรัฐสภาลุกขึ้นอภิปรายตอบโต้กันไปมาจนประธานในที่ประชุมตัดบทสั่งปิดประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบและนัดประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้มีสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยพยายามขอหารือถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดย นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางการค้าบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาทรุดหนัก ซึ่งหากมีการรบเกิดขึ้นจริงประชาชนจะเดือดร้อน เพราะกรณีการเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับประเทศได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศหายไปแล้ว จึงอยากให้นำเรื่องนี้เข้าหารือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ด้วย ซึ่งประธานในที่ประชุมเห็นว่าควรจะแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวในช่วงที่มีการพิจารณาวาระบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จะเหมาะสมกว่า

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่า จากการไปตรวจการค้าทางชายแดนบริเวณ จ.สระแก้ว พบว่าสถานการณ์ยังเป็นปกติ ทั้งนี้ด้วยมาตรฐานการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่นุ่มนวลสุขุมรอบคอบในการตอบโต้กัมพูชาเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของประเทศ รัฐบาลยืนยันว่านโยบายดังกล่าวเริ่มส่งผลกดดันให้กัมพูชามีท่าทีงอนง้อประเทศไทยแล้ว ซึ่งหอการค้าจังหวัดและพ่อค้าตามแนวชายแดนต่างเข้าใจและสนับสนุนว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องแล้ว รัฐบาลขอยืนยันว่า ศักดิ์ศรีของเราต้องรักษา และด้วยความรักชาติ จะไม่ให้ใครมาย่ำยี

จากนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งยูเครน เกี่ยวกับกรอบการเจรจาการค้าพหุภาคภายใต้องค์การการค้าโลก และกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทยภายใต้การเจรจาอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากอภิปรายไปนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เห็นชอบความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลยูเครน, กรอบการเจรจาการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก, กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทยภายใต้การเจรจาอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม,บันทึกการหารือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม,

บันทึกความเข้าใจลับระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ, บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดีย, บันทึกความเข้าใจลับระหว่างรัฐบาลแก่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแก่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์, รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย และ พิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจอาเซียนว่าด้วยบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ

เมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาวาระเรื่องบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วย บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พ.ย.51, บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพู ชา ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพฯ วันที่ 3-4 ก.พ.52 และบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เม.ย.52

ประเด็นสำคัญตามบันทึก คือ ให้ผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตลอดแนวเขตแดน เพื่อช่วยสำรวจและจัดทำแนวเขตแดน และชุดสำรวจร่วมอาจเริ่มการสำรวจพื้นที่ตอน 5(หลักเขตแดนที่ 1-23)ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้ และการจัดทำคำแนะนำการสำรวจพื้นที่ตอนที่ 6(หลักเขตแดนที่ 1-เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย และระหว่างรอการจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารให้แล้วเสร็จ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ตอนที่ 6 ทันทีที่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ 6

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอให้มีการประชุมลับ แต่ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.ต่างไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลประชุมเปิดประชุมตามปกติ ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลหลายคนกล่าวสนับสนุนให้ประชุมลับ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การนำบันทึกการประชุมดังกล่าวเข้ามาให้รัฐสภาเห็นชอบและต้องขอให้มีการประชุมลับไม่เหมือนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะรัฐบาลต้องการขออนุมัติเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อให้สามารถเจรจากับต่างประเทศได้ ซึ่งในภาวะสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากมีการอภิปรายและพาดพิงออกไปอาจจะมีการตีความผิดพลาด และเกิดปัญหาต่อการเจรจาตามกรอบดังกล่าวได้ แต่ถ้าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านให้การยืนยันว่าจะอภิปรายเฉพาะในกรอบโดยไม่นำสถานการณ์ปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลก็พร้อมจะมีการเปิดอภิปรายตามปกติ

หลังจากนั้นฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลได้ประท้วงกันไปมาจนเกิดความวุ่นวาย ประธานในที่ประชุมจึงสั่งพักประชุมแล้วเรียกวิป 3 ฝ่ายมาหารือ แต่หลังจากกลับมาประชุมอีกครั้ง ประธานวิปฝ่ายค้านขอให้รัฐบาลขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อฟังความเห็นในการบริหาร หรือ ส.ว.ควรเข้าชื่อ 1 ใน 3 ตามมาตรา 161 สอบถามรัฐบาล โดยรัฐสภาต้องใจกว้างอนุมัติให้พิจารณาเรื่องอื่นได้ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ส่วนเรื่องนี้รัฐบาลสามารถถอนเรื่องออกไปก่อนได้ เมื่อปัญหาคลี่คลายค่อยนำเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ขัดข้องที่จะถอนเรื่องดังกล่าวออกไป

แต่เมื่อประธานในที่ประชุมให้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนเพียง 298 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่กึ่งหนึ่งจำนวน 312 คน จากสมาชิกรัฐสภา 624 คน ทำให้นายชัยเลื่อนให้นับองค์ประชุมใหม่ในวันที่ 10 พ.ย.และสั่งปิดประชุมทันทีเวลา 17.00 น. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมร่วมรัฐสภาต้องยุติลงกลางคันเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ