แกนนำกลุ่ม นปช.เชื่อรัฐบาลไทยรู้เห็นการจารกรรมข้อมูลการบินในกัมพูชา

ข่าวการเมือง Friday November 13, 2009 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เชื่อว่า รัฐบาลมีส่วนรู้เห็นกรณีวิศวกรชาวไทย ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท กัมพูชา แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส(CATS) รายงานตารางการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับมายังประเทศไทย ซึ่งถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวส่งดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง

"วันนี้ทางการไทยได้ล้วงความลับกิจการภายในของกัมพูชา ผิดมารยาททางการทูตอย่างร้ายแรง หากกัมพูชานำหลักฐานดังกล่าวมาแสดง ประเทศไทยก็ผิดกฎหมาย"นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง

นายจตุพร เชื่อว่า กรณีดังกล่าวน่าจะมาจากคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากกิจการทางการบินของกัมพูชาถือว่าเป็นความลับด้านความมั่นคง โดยทางรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนที่มีเจ้าของเป็นคนไทย น่าจะมีการแทรกแซงโดยรัฐบาลไทยด้วยการดึงข้อมูล เพื่อรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินที่จะไปลงที่กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งทางกัมพูชาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความลับทางราชการ ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้

"สิ่งที่นายอภิสิทธิ์จะต้องสำเหนียกให้มากคือ การเล่นเกมการเมือง เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลว และการทุจริตของตนเอง เพื่อยืดเวลาของรัฐบาล ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับประเทศไทย แต่นายอภิสิทธิ์อาจจะได้ประโยชน์" นายจตุพร กล่าว

กรณี MOU เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ทำมาตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมายุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ดำเนินการต่อโดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.ต่างประเทศ จนมาถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม

นายจตุพร กล่าวว่า เรื่องนี้นายสุรเกียรติ์ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่าการเจรจาที่นำไปสู่ MOU เป็นระดับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวรัฐมนตรี เพราะต้องใช้ความเป็นมืออาชีพของกระทรางต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ และนายสุรเกียรติ์ยังชี้แจงว่าไทยไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU เพียงแต่ไทยไม่เรียกประชุม หรือไม่พร้อมจะประชุมก็ทำได้

รัฐบาลไทยยังได้ดำเนินการบางอย่างจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ เห็นได้จากกรณีที่ลาวปฏิเสธรับความช่วยเหลือเรื่องการจัดซีเกมส์ และ เมื่อรู้ว่าพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปพม่า ก็ส่งรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคนเดินทางไปล่วงหน้าโดยอ้างว่าจะไปไหว้พระ แต่ทางการพม่าได้ตอบปฏิเสธและให้เหตุผลว่าไม่พร้อมที่จะต้อนรับ เพราะผู้นำประเทศไม่อยู่ หรือแม้กระทั่งมาเลเซียเองก็หมางใจเช่นกันจากกรณีที่มาเลเซียไปซื้อเรือดำน้ำ แต่รัฐบาลไทยกลับสั่งซื้อเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ

"ทัศนคติของรัฐบาลชุดนี้เป็นปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน" นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า อยากเห็นความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้ต่อกรณีไทมส์ ออนไลน์ ที่เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลไทยพยายามจะขอเอกสารฉบับเต็ม ซึ่งท้ายที่สุดสื่อดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบด้วยการเขียนบทบรรณาธิการชี้แจงว่าบทสัมภาษณ์ไม่มีถ้อยคำใดๆ ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทุกถ้อยคำเต็มไปด้วยการปกป้องราชวงศ์ เมื่อเทียบกับกรณีสื่อต่างประเทศรายอื่นเสนอข่าวพาดพิงสถาบันด้วยถ้อยคำที่รุนแรงกว่า แต่นายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ดำเนินการเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนไทย

"คนในซีกรัฐบาลมีปัญหาเรื่องสถาบัน และพยายามป้ายสีให้คนอื่นว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง" นายจตุพร กล่าว

แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า การที่รัฐบาลแต่งตั้งนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานจัดงาน 5 ธันวามหาราชนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ทำในสิ่งที่ไม่ควรที่ออกมาแถลงว่าใช้งบฯ จัดงาน 150 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่บังควร อีกทั้งมีการระดมคนเข้ากรุงเทพในวันอาทิตย์เพื่อชุมนุมร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐบาลกลับไม่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และมีการสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระดมคนมาร่วมชุมนุม ซึ่งมีการใช้งบประมาณแผ่นดินด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ