In Focusครั้งแรกกับการเดินสายเยือนเอเชีย 4 ประเทศของ “บารัค โอบามา"

ข่าวต่างประเทศ Monday November 16, 2009 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงกลางสัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญไม่น้อยสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เนื่องจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จะเดินสายทัวร์เอเชียอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับภูมิภาคที่มีความสำคัญของโลกแห่งนี้

แต่เดิมประธานาธิบดีโอบามามีกำหนดเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ในช่วงวันที่ 12-19 พฤศจิกายนนี้ แต่กำหนดการต้องล่าช้าออกไป 1 วัน เนื่องจากผู้นำสหรัฐต้องเข้าร่วมพิธีไว้อาลัยเหตุกราดยิงในค่ายทหารฟอร์ตฮู้ด รัฐเท็กซัส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับประเด็นที่ผู้นำสหรัฐจะหยิบยกขึ้นมาหารือกับผู้นำเอเชียในครั้งนี้ประกอบด้วยประเด็นเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคง

  • โอบามาย้ำความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่น

หลังจากเดินทางถึงสนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียวด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิม 1 วัน ผู้นำสหรัฐก็ได้ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรียูคิโอะ ฮาโตยามะ ของญี่ปุ่น เพื่อยืนยันความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระดับทวิภาคีของสองประเทศ หลังจากที่ผู้นำทั้งสองได้จัดการประชุมระดับทวิภาคีร่วมกันมาแล้วในนครนิวยอร์ก นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นโอบามายังให้คำมั่นสัญญาว่า สหรัฐอเมริกาจะกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศเก่าแก่ในเอเชียให้แข็งแกร่งขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และจะขยายขอบเขตความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆในศตวรรษที่ 21

โอบามากล่าวแถลงถึงนโยบายของสหรัฐที่มีต่อทวีปเอเชียว่า "ผมต้องการให้ทุกท่าน ณ ที่นี้ และทุกคนในอเมริการู้ว่า เรามีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของภูมิภาคนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเราที่บ้าน"

ผู้นำสหรัฐได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่ในเอเชียซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไทยว่า "พันธมิตรเหล่านี้ยังคงเป็นรากฐานด้านความมั่นคงและเสถียรภาพ ซึ่งช่วยให้ประเทศต่างๆและประชากรในภูมิภาคนี้มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า"

"ความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อความมั่นคงในเอเชียนั้นไม่สั่นคลอน และจะเป็นเช่นนี้ทั่วทั้งภูมิภาค" โอบามากล่าว "ผมทราบว่า สหรัฐอเมริกาขาดการติดต่อกับหลายประเทศในภูมิภาคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผมขอชี้แจงว่า ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว"
  • เร่งแก้ปัญหาฐานทัพสหรัฐบนเกาะโอกินาว่า

นอกจากนั้นประธานาธิบดีโอบามายังแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีฮาโตยามะว่า ความขัดแย้งกรณีย้ายฐานทัพทหารสหรัฐออกจากเขตที่มีประชากรหนาแน่นบนเกาะโอกินาวาจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาอาจบานปลายได้ และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นที่กำลังจะเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีในปีหน้า

โดยชาวญี่ปุ่นส่วนมากต้องการให้สหรัฐย้ายฐานทัพที่มีทหารอเมริกันประจำการราว 47,000 นาย ออกไปจากเกาะโอกินาว่า โดยเฉพาะหลังจากที่ทหารอเมริกันก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นวัยเพียง 12 ปี เมื่อปี 2538 แต่สหรัฐพยายามต่อรองขอให้ย้ายฐานทัพสหรัฐไปยังพื้นที่ส่วนอื่นที่ห่างไกลผู้คนบนเกาะโอกินาว่าแทน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไม่ได้ให้สัญญากับสหรัฐว่าจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ภายในปีนี้

  • ผลักดันประชาธิปไตยในพม่า

ขณะเดียวกันโอบามาเผยว่า สหรัฐกำลังดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี นักเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า

โอบามายังกล่าวด้วยว่า มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐไม่ได้ทำให้ชีวิตของประชาชนชาวพม่าดีขึ้น ถึงกระนั้นสหรัฐก็จำเป็นต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไปจนกว่าจะมีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม โดยสหรัฐสนับสนุนให้พม่ามีสันติภาพและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากพม่าเปลี่ยนไปในทิศทางดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับพม่าให้ดีขึ้น

*โอบามาให้คำมั่นสหรัฐจะเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีทรานส์-แปซิฟิก

นอกจากนั้น บารัค โอบามา ยังประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีทรานส์-แปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ชิลี และบรูไน เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นฐานรากที่จะขยายไปสู่เขตการค้าเสรีที่กว้างขวางขึ้นในเอเชียแปซิฟิก

รอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าของสหรัฐ เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวกับบรรดานักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุม ซีอีโอ ซัมมิท ของกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่สิงคโปร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศที่กรุงโตเกียวเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะหาทางทำข้อตกลงระดับภูมิภาคด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มการค้าดังกล่าว

นายเคิร์กระบุว่า คณะทำงานของปธน.โอบามาจะดำเนินการร่วมกับสภาคองเกรสในเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการค้าในเอเชียที่ขยายวงกว้างขึ้น

"เราเชื่อว่า ข้อตกลงการค้าทรานส์-แปซิฟิกจะช่วยให้ชาวอเมริกันมีงานทำมากขึ้นและช่วยให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า" ผู้แทนการค้าสหรัฐกล่าว

*โอบามาเห็นด้วยกับแนวทางบรรลุข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของนายกฯ เดนมาร์ก

หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ญี่ปุ่น ผู้นำสหรัฐได้เดินทางต่อไปยังสิงคโปร์เพื่อร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งในโอกาสนี้โอบามาได้ออกมาสนับสนุนแนวทางบรรลุข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี ลาร์ส ล็อกเก ราสมุสเซน ของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคมนี้

โดยผู้นำเดนมาร์กเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันบรรลุข้อตกลงทางการเมืองก่อน จากนั้นจึงค่อยพูดคุยเกี่ยวกับข้อผูกพันทางกฎหมายในภายหลัง

"ผู้นำหลายประเทศในกลุ่มเอเปคเชื่อว่าคงไม่สามารถบรรลุข้อผูกพันทางกฎหมายได้ในการประชุมที่โคเปนเฮเกนในเดือนหน้า" ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนเจรจาของสหรัฐ กล่าวหลังการรับประทานอาหารเช้าและประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)

การประชุมเอเปคเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน และการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนก็เป็นโอกาสสุดท้ายที่นานาประเทศจะบรรลุข้อตกลงในการลดภาวะโลกร้อน ก่อนที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2555

*ผู้นำเอเปคให้คำมั่นเร่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ผู้นำสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ให้คำมั่นระหว่างการแถลงปฏิญญาร่วมกันว่าจะเร่งกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขตการค้าเสรี

นอกจากนั้นผู้นำจากทั้ง 21 ชาติยังกระตุ้นให้มีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำได้ตัดสินใจพัฒนายุทธศาสตร์การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมสำหรับกลุ่มโอเปคโดยเฉพาะ และปฏิเสธนโยบายกีดกันทางการค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแสดงความวิตกเกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรีโลกขององค์การการค้าโลกหรือการเจรจารอบโดฮาที่กำลังหยุดชะงักด้วย

  • สรุปปฏิญญาร่วมระหว่างผู้นำเอเปค ณ สิ้นสุดการประชุม

สรุปใจความสำคัญของปฏิญญาร่วมระหว่างผู้นำสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ณ สิ้นสุดการประชุม ประกอบด้วย

  • ผู้นำเอเปคจะใช้ยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในระยะยาวในปีหน้า เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืนยิ่งขึ้น
  • ผู้นำเอเปคจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่
  • ผู้นำเอเปคจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
  • ผู้นำเอเปคจะยังคงหาหนทางในการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกต่อไปในอนาคต
  • ผู้นำเอเปคปฏิเสธการกีดกันทางการค้า
  • ผู้นำเอเปคจะเน้นย้ำให้เห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับการกีดกันทางการค้าคือ ข้อสรุปจากการเจรจารอบโดฮาในปีหน้า
  • ผู้นำเอเปคจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและดำเนินงานตามทิศทางของการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน
  • ผู้นำเอเปคจะลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานให้ได้อย่างน้อย 25% ภายในปี 2573
  • ผู้นำเอเปคจะสนับสนุนและพัฒนาองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง และยกให้การสร้างงานเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ